ชะนี นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในอันดับไพรเมตประเภทที่ไม่มีหาง ชอบห้อยโหนโยนตัวไปมาบนยอดไม้แล้ว ในคำสแลง ยังเป็นที่เข้าใจกันว่า “ชะนี” หมายถึง ผู้หญิงแท้ ซึ่งอาจมีที่มาว่าผู้หญิงแท้ อาจร้องเรียกหาผัว หรือแสดงความต้องการว่าอยากจะมีสามีมากๆอะไรทำนองนั้น อย่างไรก็ดี คำแสลง ก็เป็นคำเรียกที่นิยมเฉพาะกลุ่ม หรือเป็นที่นิยมเรียกในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมอาจลดลงได้และถูกเลิกใช้ไปในที่สุด
อะไรที่ทำให้ได้ยินว่าชะนีร้อง “ผัว ! ผัว !” ?
ว่ากันว่าเสียงร้องของสัตว์ในต่ละภาษานั้น เรียกว่า สัทพจน์ หรือเสียงที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติ แต่เสียงที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติ ในแต่ละภาษานั้นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหน่วยพื้นฐานของเสียงในแต่ละภาษา ดังนั้น สัตว์ชนิดเดียวกันอาจจะร้องไม่เหมือนกันในแต่ละภาษาก็เป็นได้ เช่น สุนัขไทยอาจเห่าว่า “โฮ่ง โฮ่ง” สุนัขอังกฤษอาจเห่าว่า “วูฟ วูฟ” สุนัขญี่ปุ่นอาจเห่าว่า “วัน วัน” สุนัขอิตาเลี่ยนอาจเห่าว่า “เบา เบา” ชะนีก็เช่นกันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไม ในภาษาไทยเราถึงได้ยินชะนีร้องว่า “ผัว ผัว” แต่สำหรับในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาอื่นนั้น ชะนีอาจจะร้องเป็นคำอื่นที่ไม่ใช่ “ผัว ผัว” ก็เป็นได้ ดังนั้น เสียงร้องของสัตว์ในแต่ละภาษา อาาจไม่ใช่เสียงที่เปล่งออกมาโดยตรงจากสัตว์ชนิดนั้นๆ แต่เป็นเสียงที่ผ่านการได้ยินแล้วตีความออกมาผ่านหน่วยเสียงของแต่ละภาษานั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว การที่เราคิดว่าชะนี (น่าจะ) ร้องว่า “ผัว ผัว” อาจะมาจากอิทธิพลของนิทานพื้นบ้านเรื่องจันทโครพ ที่เล่ากันว่าเจ้าชายจันทโครพเดินทางกลับบ้านเมืองหลังจากที่ไปเรียนวิชากับพระฤษี พระฤษีมอบผอบให้และกำชับให้จันทโครพเปิดเมื่อกลับถึงเมือง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจันทโครพเปิดผอบเสียก่อนพบว่าเป็นหญิงงามชื่อนางโมรา เลยขอให้มาเป็นภรรยา ระหว่างทางพบโจรป่า จันทโครพต่อสู้ ขณะที่ต่อสู้กันพระขรรค์หลุดจากมือ จันทโครพขอให้นางส่งพระขรรค์ให้ แต่นางโมรากลับส่งพระขรรค์ไปให้กับโจร จนเจ้าชายจันทโครพถูกฆ่าตาย เมื่อโจรป่าได้นางโมราเป็นภรรยาแล้วที่สุดก็ทิ้งนางไป พระอินทร์ทราบเรื่องจึงสาปนางเป็นชะนีร้องเรียกหาผัว ผัว อยู่ตลอดไป แล้วชุบชีวิตเจ้าชายจันทโครพขึ้นมาใหม่ จะเห็นว่านิทานพื้นบ้านเรื่องดังกล่าว ได้สอดแทรกตำนานในฐานะที่เป็นคำอธิบายที่มาของธรรมชาติ และพฤติกรรมของสัตว์ เช่น เสียงร้องของชะนี
จริงๆแล้วชะนีร้องว่าอะไรบ้าง ?
จริงๆแล้วชะนีก็ร้องกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย ไม่ได้ร้องเฉพาะตัวเมียเท่านั้น และบางครั้งก็ร้องสอดประสานกันไปอ.ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่าชะนี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชะนีมือขาวที่มีแหล่งอาศัยและมีการศึกษากันมากในประเทศไทย) มีเสียงร้องใน 5 โน้ต ด้วยกันคือ
1.เสียง “วา
2.เสียง “ว้า
3.เสียง “ฮุ”
4.เสียง “วาว”
5.เสียง “OA” (ออกเสียง ตัว โอ กับ ตัว เอ เร็วๆ)
โดยชะนีจะนำโน้ตเหล่านี้มาเรียงร้อยต่อๆกันไป เป็นรูปแบบการร้องหลายชนิด คือ
1. Introductory hoot คือ เสียงร้องเริ่มต้นมีลักษณะเป็นพยางค์สั้นๆ ประกอบกัน เกิด ในช่วงก่อนการร้องเสียงเดี่ยวในเพศเมีย
2. Male solo คือ เสียงร้องของชะนีตัวผู้
3. Female great call คือ เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวเมีย
4. Vocal duet คือ การร้องคู่
ชะนี ร้องไปเพื่ออะไร?
ชะนี ร้องเพื่อหลายวัตถุประสงค์ เช่น การแสดงอาณาเขตของครอบครัวชะนี การระวังภัย การขับไล่ผู้บุรุก การสื่อสารกันภายในครอบครัวชะนี หรือบางครั้งเป็นการทำเสียงเพื่อแสดงความพอใจเมื่อได้กินผลไม้อร่อย
จะเห็นว่าชะนีใช้เสียงร้องเพื่อการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งรูปแบบของเสียงและวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร การร้องหาสามีก็อาจเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์เหล่านั้น เช่นการร้องสื่อสารกันในครอบครัว