Site icon Primate Studies Blog

แนะนำหนังสือ : ลิงเปลือย

ลิงเปลือย แปลจาก The Naked Ape: A Zoologist’s Study of the Human Animal

ผู้เขียน :  Desmond Morris

ผู้แปลและเรียบเรียง : มยูร วิเศษกุล

พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2513 สำนักพิมพ์แพร่พิทยา

มนุษย์ คือ ลิงเปลือย?!?!?

The Naked Ape: A Zoologist’s Study of the Human Animal หรือชื่อหนังสือที่ถูกแปลงเป็นภาษาไทยว่า “ลิงเปลือย” ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1967  (พ.ศ.2510) โดย  Desmond Morris นักพฤติกรรมสัตว์และนักสัตววิทยา ชาวอังกฤษ ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาไทยในปี พ.ศ.2513 ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นที่กล่าวถึงและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจนแปลไปถึง 23 ภาษาเลยทีเดียว หนังสือเล่มนี้เป็นการกล่าวถึงพฤติกรรมของมนุษย์นับตั้งแต่การวิวัฒนาการมาจากลิง จนถึงพฤติกรรมของมนุษย์ร่วมสมัย โดยการอธิบายว่ามนุษย์ก็คือลิงชนิดหนึ่งที่ขนสั้นกุด หรือจะเรียกอีกอย่างว่าลิงเปลือยเลยก็ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับลิงทั่วไป หรือวานรใหญ่ไร้หางที่ค่อนข้างจะมีขนยาว ดก และ หนา กว่ามนุษย์อย่างเห็นได้ชัด ลักษณะการบรรยายของผู้เขียนดูคล้ายการพยายามอธิบายพฤติกรรมสัตว์สายพันธุ์อื่นๆว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร แต่อันที่จริงแล้วก็คือการพยายามอธิบายความเป็นมาของมนุษย์ตลอดจนลักษณะสังคมของมนุษย์ หรือพูดอีกทางหนึ่งก็คือ ผู้เขียนกำลังอธิบายถึงเผ่าพันธุ์ของตนเองด้วยท่วงทำนองการเขียนเหมือนกำลังอธิบายถึง “สัตว์อื่น” โดยการพรรณาความไปเรื่อยๆ

พฤติกรรมของลิงเปลือย

ในหนังสือถูกแบ่งออกเป็น 8 บท คือ บทที่ 1 กำเนิดเดิม บทที่ 2 นิสัยทางเพศของลิงเปลือย บทที่ 3 การเลี้ยงดู บทที่ 4 สัญชาติญาณการขวนขวายอยากรู้ อยากเห็น  บทที่ 5 การต่อสู้  บทที่ 6 การกินอยู่ บทที่ 7 ความสบาย และ บทที่ 8 สัตว์ต่างๆ

โดยผู้เขียนได้ขยายความข้อสันนิษฐานของตัวเองในแต่ละประเด็นแบ่งแยกไปเป็นบทๆ ในบทที่ว่าด้วยกำเนิดเดิมผู้เขียนพยายามประมวลข้อสันนิษฐานที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีขนสั้นเปล่าเปลือยเมื่อเทียบกับลิงชนิดอื่น มีข้อสันิษฐานหนึ่งบอกว่าการที่คนเราเริ่มมีการตั้งถิ่นฐาน มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งมากขึ้น ไม่ได้เร่ร่อนเหมือนสมัยก่อน ที่อยู่อาศัยหลับนอนจะเป็นแหล่งที่เพาะพันธุ์เห็บหมัดและมีระยะเวลาให้ฟักตัว จนปรสิตเหล่านั้นเจริญเติบโตได้ดี หากมนุษย์เรามีขนยาวก็จะเป็นที่พำนักอย่างดีของพวกปรสิต หรืออีกแนวคิดหนึ่งเสนอว่า เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการล่าสัตว์ และลเกกินอาหารประเภทผลไม้ หัวพืช และสัตว์ขนาดเล็กเป็นหลักแล้ว หากมีขนยาวก็จะเป็นที่ให้เศษอาหารสกปรกหมักหมมได้ง่าย แต่ก็ดูเหมือนว่าข้อสันนิษฐานนี้จะฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะแม้ขนาดลิงทั่วไปที่มีขนยาว ก็ยังรู้จักการทำความสะอาดขนให้กันและกัน ขนจึงอาจจะไม่ใช่แหล่งที่สร้างโรคภัยและความสกปรกมากนัก บางแนวคิดก็สันนิษฐานว่าการที่คนเราขนสั้นก็เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีและเมื่อได้ลงน้ำหรือหากินใกล้แหล่งน้ำก็จะทำให้ว่ายน้ำและลุยน้ำได้สะดวกขึ้น และบ้างกก็สันนิษฐานว่าการที่มนุษย์สลัดขนออกไป ก็เพื่อการสร้างแรงดึงดูดและสร้างแรงกระตุ้นทางเพศ นัยว่าพอแปลือยแล้วจะดู sexy ขึ้นว่าอย่างนั้นเถอะ

และในบทที่ 2 ที่ว่าด้วยนิสัยทางเพศของลิงเปลือย เป็นเหมือนบทที่เป็น main idea ของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ เพราะดูเหมือนผู้เขียนจะให้น้ำหนักไปกับการสันนิษฐานว่า มนุษย์เราขนสั้นกุด ก็เพื่อความการสร้างความพึงพอใจในเพศรส และคำว่า “เปลือย” (Naked) ในชื่อหนังสือนั้นก็ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า การไร้ซึ่งขน หมายถึงการปลดเปลื้องร่างกายให้มองดูเปล่าเปลือย กระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้มอง และผู้เปลือยเองในฐานะผู้ได้รับการสัมผัสก็จะมีผัสสะทางเพศที่ชัดเจนขึ้น แล้วทำไมการเป็นมนุษย์ถึงต้องมีลักษณะของร่างกายที่สร้างความพึงพอใจในเพศรสด้วยเล่า ในเมื่อสัตว์ชนิดอื่นๆก็ล้วนมีการสืบพันธุ์เหมือนกัน? ผู้เขียนสันนิษฐานว่าก็เพื่อความยึดเหนี่ยวผูกพันซึ่งกันและกันของชายหญิงในฐานะคู่สามีภรรยา เพราะลักษณะครอบครัวแบบมนุษย์ เป็นลักษณะของผัวเดียวเมียเดียวที่ครอบครัวต้องร่วมมือกันดูแลสมาชิกที่เกิดใหม่  นอกจากนั้นแล้วอวัยวะที่แสดงออกถึงเรื่องเพศก็ยังมีความโดดเด่นออกมา เกินความจำเป็นต่อการใช้งานจริง ผู้เขียนยกตัวอย่างเช่น หน้าอกของผู้หญิงนั้น มีฐานที่กว้างและมีลักษณะกลม ซึ่งไม่เอื้ออำนวยในการให้นมบุตรเนื่องจากหากทารกไม่คุ้นชินจะไม่ยอมเข้าเต้าเพราะดูดนมได้ยาก หากสนใจแต่เรื่องฟังค์ชั่นการใช้งานเท่านั้น มนุษย์เพศหญิงก็น่าจะมีลักษณะของหน้าอกคล้ายลิงทั่วไปก็เพียงพอต่อการให้นมทารกแล้ว นั่นคือลักษณะเต้าที่เล็กแต่มีหัวนมยาวก็จะทำให้ทรากสามารถดูดได้สะดวกขึ้น เหมือนกับการดูดจุกนมของขวดนม หรืออย่างในกรณีของท่าทางการร่วมเพศนั้น มนุษย์ต่างจากลิงสายพันธุ์อื่นตรงที่มนุษย์มักมีท่าทางในการหันหน้าเข้าหากันมากกว่าลิงสายพันธุ์อื่นที่มีท่าทางในการมีอะไรกันทางด้านหลัง (ผู้เขียนหมายถึงท่าทางเบสิคพื้นฐานที่ยังไม่ได้พลิกแพลง) ก็เนื่องมากจากอวัยวะของเพศหญิงค่อนมาทางด้านหน้ามากกว่าด้านหลัง และในการมีกิจกรรมกันอย่างใกล้ชิด การได้เห็นหรือสัมผัสกันทางด้านหน้าอาจจะก่อให้เกิดความพึงพอใจ ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างกันได้มากขึ้น

นอกจากพฤติกรรมทางเพศแล้ว ผู้เขียนก็พูดถึงพฤติกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้เขียนเห็นว่าพวกลิงเปลือยอย่างมนุษย์เป็นพวกชอบสอดรู้ สอดเห็น ชอบขวนขวาย ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่และชอบทดลอง อาจเป็นเพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บร้ายแรงเหมือนพวกสัตว์กินเนื้อ จึงจำเป็นต้องทดลองปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติ ทั้งในแง่การหาแหล่งที่อยู่อาศัย การทดลองไปหาอาหารในแหล่งใหม่ๆ การเรียนรู้ได้มากก็จะสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นและส่งผลให้มีชีวิตรอดได้มากขึ้น และสำหรับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กันนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามนุษย์ไม่ค่อยชอบความร่วมมือกันมากสักเท่าไร และเกรี้ยวกราดกันได้ง่ายๆ หมายถึงว่าพอจะมีความร่วมมือบ้างในกลุ่มคนเล็กๆ แต่หากพอเริ่มรวมตัวกันเป็นฝูงแบบฝูงลิงแล้วก็มักจะมีความขัดแย้ง แย่งชิงกันอยู่เสมอ และการต่อสู้จนเป็นความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย โดยมีเหตุผลมาจากการต่อสู้เพื่อดำรงอาณาเขตของตนเองและเพื่อยืนยันความเป็นใหญ่ในอันดับภายในฝูง สำหรับท่าทางที่แสดงความโกรธเกรี้ยว ทั้งคนและลิงก็ต่างมีการแสดงออกคล้ายๆกัน เช่น การทำตาโต ถลึงตา แยกเขี้ยว ยิงฟัน ว่ากันว่าเมื่อคนมีท่าทางพร้อมที่จะต่อสู้แล้วในขณะเดียวกัน การแสดงออกซึ่งท่าทางเหล่านั้นก็หมายถึงการแสดงความพร้อมที่จะหลบหนีด้วย แต่ทั้งลิงและคนก็เป็นสัตว์ที่ฉลาด การต่อสู้จนถึงแก่ชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องปกติในหมู่สัตว์อย่างลิง และทั้งคนและลิงก็รู้จักการส่งสัญญาณเพื่อยุติการสู้รบและสงบศึกลงได้ โดยส่วนใหญ่ฝ่ายที่ประเมินตนเองได้ว่าไม่สามารถสู้ได้ก็จะแสดงอาการยอมแพ้อย่างรวดเร็ว เช่น การจูบปาก การยื่นมือออกไปให้จับ การย่อตัวของผู้แพ้ หรือการยอมก้มให้อีกฝ่ายที่ชนะขึ้นคร่อมได้ (Mounting)มีการวิเคราะห์ว่าท่าทางการแสดงออกของมนุษย์ที่แสดงว่าตนเองนั้นต่ำศักดิ์กว่า ก็คือ การแสดงการยอมแพ้แต่โดยดี โดยไม่จำเป็นต้องมีการสู้รบกัน เช่น การทำความเคารพ การค้อมหลัง การจูบมือ การคำนับ เป็นต้น

ข้อถกเถียงของนักอ่าน

ในช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาคือปลายยุค 60’s การศึกษาด้านไพรเมต และ ด้านวิวัฒนาการของมนุษย์ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในสังคม การศึกษาเรื่องมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์ในอันดับไพรเมต ยังอยู่ในความสนใจของนักสัตวิทยาที่เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป การค้นพบซาก fossil ของ ape ดึกดำบรรพ์ หรือ fossil ของพวก Hominids ก็มีเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีส่วนให้เราเข้าใจพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์โบราณได้มากขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพฤติกรรมไม่สามารถอธิบายผ่านหลักฐานอย่างซากดึกดำบรรพ์ได้ และในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา การศึกษาด้านวานรวิทยาก็มีความก้าวหน้ามาก การศึกษาลิงในถิ่นอาศัยผ่านการสังเกตและการทำวิจัยอย่างเป็นระบบทำให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมของลิงแต่ละชนิดพันธุ์มากขึ้น ซึ่งลิงแต่ละชนิดพันธุ์อาจมีความแตกต่าง หลากหลาย ทั้งในด้านระบบสังคม ถิ่นที่อยู่ อาหารการกิน ดังนั้น การพรรณาโดยเหมารวมว่าลิงจะต้องประพฤติ ปฏิบัติตัวอย่างไร เหมือนๆกันก็อาจจะเป็นเรื่องที่เชยเกินไปสักหน่อย อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ก็ยังมีคุณค่าในแง่การชวนคิดเรื่อง วิวัฒนาการของพฤติกรรมมนุษย์จากลิงสู่คน การพรรณาความแบบภาพรวมของหนังสือช่วยขับเน้นให้เราเห็นว่าความเป็นญาติใกล้ชิดในอันดับไพรเมตนั้น มนุษย์เราก็มีความคล้ายคลึงกับลิงอยู่เหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน การระบุภาพแบบเหมารวมของไพรเมตทั้งหมดก็เป็นอันตรายต่อวงวิชาการด้านไพรเมตในแง่ที่ว่า ถ้าหากว่าเราคิดว่าเราก็เหมือนลิง และลิงก็เหมือนเรา ดังนั้น เราจะศึกษาค้นคว้าไปเพื่ออะไร? การอ่านหนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นงานเก่าที่อาจถูกมองว่าเชย พ้นสมัยแล้ว แต่ก็มีคุณค่าในแง่การคิดต่อ ทบทวนความเป็นลิงในตัวเรา การตั้งคำถามและนำไปสู่การแสวงหาความรู้ใหม่ๆด้านวานรวิทยา และ มานุษยวิทยาวิวัฒนาการ

Exit mobile version