ลิง กับ คน : ไพรเมทวิทยาเชิงชาติพันธุ์ของลิงแสม

Book Review…

วิทยานิพนธ์ลิง กับ คน : ไพรเมทวิทยาเชิงชาติพันธุ์ของลิงแสม ณ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี โดย เวทัส โพธารามิก

วันนี้ขอเขียนถึงหนังสือหนึ่งเล่มที่มีความน่าสนใจมาก สำหรับคนที่มีความสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับลิง ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่หนังสือเล่ม แต่เป็นวิทยานิพนธ์ ระดับมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ เวทัส โพธารามิก เรื่อง ไพรเมทวิทยาเชิงชาติพันธุ์ของลิงแสม (Macaca fascicularis) ณ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

สมัยก่อนนู้น ตอนที่วิทยานิพนธ์เล่มนี้ออกมาใหม่ๆ (2556) ประเด็นเรื่องลิงลพบุรีตีกัน ก็อาจเป็นที่รับรู้ของคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ว่ามันอาจจะยังไม่ได้นำเสนอผ่านสื่อหลัก ที่นำข่าวลิงตีกันมาเล่นเป็นสกู๊ปข่าวบ้าง หรือตัดมาเป็นคลิปหรือ meme ขำๆตามเพจบ้าง แต่ตอนนี้ความรับรู้เรื่องลิงลพบุรีตีกันมันกว้างออกไปจากคนในท้องถิ่น เราก็เลยคิดว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ช่วยให้เห็นคำตอบที่ชัดเจนทีเดียวว่าทำไมมันต้องตีกัน

คุโณปการของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ในความเห็นส่วนตัวของเราคือ ทำให้มองเห็น “ลิงที่มองไม่เห็น” หมายถึง ในความเข้าใจเดิมๆของคนในพื้นที่หรือคนทั่วไป อาจจะมองว่าลิงมีแค่ 2 กลุ่ม(ฝูง) ลิงตึกกับลิงศาลพระกาฬ หรือไม่ก็ 3 ฝูง โดยเพิ่มลิงโรงเรียนเข้ามา เท่านั้น แต่จากการสำรวจ(น่าจะ)ล่าสุดตาม finding ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ตัวเลขจะอยู่ที่ 6 ฝูง และตัวเลขก่อนล่าสุด (ปี2553) ตัวเลขอยู่ที่ 5 ฝูง การช่วยให้มองเห็น “ฝูงลิงที่มองไม่เห็น” ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า บางทีพื้นที่หากิน (home range)ก็อาจมีการทับซ้อนซึ่งกันและกัน การทับซ้อนของ home range นำไปสู่การเกิดความขัดแย้งระหว่างฝูง และการจัดการเรื่องการให้อาหารลิงจะเป็นเรื่องง่ายๆที่ทำได้ยาก เพราะเรามองไม่เห็นประชากรอีก 4 ฝูงที่ยังต้องการอาหารอยู่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ง่าย ในแง่ของการกำหนดนโยบาย หากส่วนท้องถิ่นต้องการผลิตนโยบายในการจัดการปัญหาเรื่องลิง (ถ้ามองว่ามันเป็นปัญหา) ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ก่อนอื่นเลย ก่อนเรื่องแผนและงบประมาณ ท้องถิ่นอาจมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่า “ตัวปัญหา” ให้ดีเสียก่อน

และในแง่ของการทำความเข้าใจสังคมของลิงในเมืองแล้ว พบว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านพฤติกรรมของลิงแต่ละฝูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัยและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น วิทยานิพนธ์เล่มนี้ยังชวนให้มองเห็นถึงความสัมพันะ์ระหว่างคนในท้องที่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลิงและความพยายามในการแก้ไขปัญหาในอันที่จะอยู่ร่วมกันได้ระหว่างคนกับลิงในพื้นที่


สำหรับผู้ที่สนใจอยากอ่านก็ download มาอ่านได้เลย โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักหอสมุดธรรมศาสตร์ สำหรับเว็บห้องสมุดธรรมศาสตร์ในการให้บริการ download วิทยานิพนธ์นั้น ผู้เขียนได้ไปถามเจ้าหน้าที่ห้องสมุดมาให้แล้ว เขาบอกว่าคนนอกก็โหลดมาอ่านได้นะ แค่ต้องลงทะเบียนตรงช่องบุคคลภายนอกเฉยๆ 

*เว็บไซต์หอสมุดธรรมศาสตร์ https://library.tu.ac.th/th