จับลิงหัวค่ำคืออะไร? แสดงเมื่อไหร่ ?
ในการแสดงมหรสพไทยประเพณี เช่น หนังใหญ่ หรือ หนังตะลุงนั้น มักมีธรรมเนียมปฏิบัติก่อนการทำการแสดง โดยมีขั้นตอนเริ่มต้นด้วยการไหว้ครูหรือเบิกหน้าพระ ตามด้วยการแสดงเบิกโรง ในชุดสั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มต้นการแสดงในเนื้อเรื่องยาวต่อไป การแสดง “จับลิงหัวค่ำ” หรือบ้างก็เรียกว่า “ลิงขาว ลิงดำ” เป็นการแสดงเบิกโรง หรือการแสดงเรียกน้ำย่อย ก่อนทำการแสดงชุดจริงต่อไป คาดว่าคำว่า “หัวค่ำ” น่าจะหมายถึง ช่วงเวลาที่ทำการแสดง คือ เริ่มต้นแสดงเมื่อหัวค่ำ ถือเป็นการแสดงโหมโรงเพื่อเรียกคนดูให้ทราบก่อนการแสดงจริงจะเริ่มขึ้น
เรื่องย่อ จับลิงหัวค่ำ
เนื้อเรื่องของการแสดงจับลิงหัวค่ำนั้น เป็นเรื่องสั้นๆ ที่ไม่ซับซ้อน ว่าด้วย ลิงขาว และ ลิงดำ เป็นเพื่อนกัน อาศัยอยู่ร่วมกันกับพระฤาษีในป่า มีหน้าที่ดูแลอุปัฐฐากพระฤาษี วันหนึ่ง ลิงดำเกิดเมามายขึ้นมา อาละวาดขว้างปาข้าวของ ลิงขาว จึงต้องทำหน้าที่ไล่จับลิงดำ ต่อสู้กันไปมาและพยายามจะนำเชือกมามัดลิงดำ เมื่อจับลิงดำได้ ก็พาลิงดำมาพบพระฤาษี โดยตอนแรกลิงขาวคิดว่าจะฆ่าลิงดำเสีย แต่พระฤาษีของบิณฑบาตรชีวิตไว้ บอกว่าควรให้อภัยเป็นทานและลิงดำก็ไม่ได้กระทำความผิดถึงขั้นสมควรแก่การเอาชีวิต แล้วพระฤาษีก็สั่งสอนลิงดำว่าให้กลับตัว กลับใจ เลิกประพฤติชั่วเสีย
ผู้เขียนขอแทรกบทเสภาสำนวนของนายอำนาจ มณีแสง ซึ่งเป็นบทเสภาของการเจรจาหนังใหญ่วัดบ้านดอน ไว้ดังนี้
พฤติกรรมทำชั่วมัวหมอง
ต้องยอมแพ้จับขี่ดังที่เห็น
สู้กันมาแต่หัวค่ำน้ำตากระเด็น
ก็ต้องเป็นผู้แพ้อย่างแน่นอน
อยากให้พระเจ้าตาฆ่าให้สิ้น
มันดูหมิ่นประจำเรื่องคำสอน
ฝ่ายหลวงตากล่าวว่าอย่าร้าวรอน
จงผันผ่อนเปลี่ยนแปลงแห่งพฤติกรร
เลิกทำชั่วมัวหมองครองธรรม
สิ่งชั่วละทำดีมีเช้าค่ำ
จะมีสุขสรรเสริญเพลินประจำ
เลิกกระทำชั่วดีกว่าเอย
ลิงดำเมาเพราะอะไร ?
สำหรับการแสดงมหรสพที่ค่อนข้างสั้น กระชับ ในการแสดงบางครั้งอาจจะไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุโดยละเอียด ที่ทำให้ลิงดำมีพฤติกรรมเมาอาละวาดตามเนื้อเรื่อง แต่หากลองพิจารณาบทละครชุดเบ็ดเตล็ด บทเบิกโรงเรื่องจับลิงหัวค่ำ พระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้กล่าวถึงสาเหตุการเมาของลิงดำว่า
บัดนั้นพระมุนีมีจิตรคิดสงสาร
บ่นเพ้อพ่ำร่ำว่ากูรำคาญ
ไอ้ลิงหลานทำรังแกแชเชือนไช
เอามือลูบเนื้อตัวหัวหู
เคยกลัวกูอยู่ทีเดียวฤๅเปนได้
ชรอยจะกินลำโพงที่วางไว้
ริมเตาไฟสุมปรอทแล้วจริงเจียว
จึงตำน้ำใบประยงคุ์เอามากรอก
พอสำรอกก็หายคลายประเดี๋ยว
พระฤๅษีดีใจโห่เกรียว
เข้าแก้มัดปล่อยเตียวด้วยยินดี
ตามบทพระราชนิพนธ์ข้างต้น พบว่าลิงดำ ได้กินต้นลำโพงเข้าไป ซึ่งลำโพงเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์เป็นพิษ ทุกส่วน การเกิดพิษส่งผลให้ระบบประสาทกลางถูกกระตุ้น มีอาการเคลิบเคลิ้ม เป็นสุข ต่อมาเกิดอาการเพ้อคลั่ง มีอาการประสาทหลอน เพ้อ เห็นสิ่งประหลาดต่าง ๆ นานาอย่างน่าสะพรึงกลัว จนพระฤาษีต้องช่วยถอนพิษให้นำน้ำใบประยงค์มากรอกให้สำรอกพิษออกมา จึงมีความเป็นไปได้ว่าลิงดำอาจจะไม่ได้ตั้งใจเมาอาละวาด หรือ ตั้งใจดื่มเหล้าเพื่อความสนุกสนานเพื่อให้เมามาย แต่เป็นการกินพืชที่มีพิษเข้าไปจนส่งผลให้เกิดอาการประสาทหลอนได้
อย่างไรก็ดี การแสดงมหรสพก็อาจมีการพลิกแพลงในบทละครได้ ดังเช่น การแสดงเบิกโรงจับลิงหัวค่ำของคณะหนังตะลุงเมืองตราด ระบุว่าสาเหตุที่ลิงขาวกับลิงดำวิวาทกันนั้น เกิดจากการที่พระฤาษีใช้ให้ลิงขาวไปหาผลไม้มาให้ฉัน เมื่อลิงขาวพบต้นไม้ที่มีผลไม้ชุกชมอยู่บนนั้นก็เก็บมากินบ้าง เก็บให้พระฤาษีบ้าง ลิงดำที่อยู่บนต้นไม้มาก่อน จึงแกล้งถีบให้ลิงขาวตกต้นไม้จนกลายเป็นเรื่องทะลาะวิวาทกันใหญ่โต โดยลิงดำให้เหตุผลว่าตนอยู่บนต้นไม้นี้มาก่อนทำไมลิงขาวไม่ขออนุญาตก่อนมาเก็บผลไม้
ลิงขาว ลิงดำ การสั่งสอนจริยธรรมผ่านวานรในโลกที่มีแต่สีขาว กับ สีดำ
ดูเหมือนว่าการแสดงเบิกโรงชุดสั้นๆ อย่างจับลิงหัวค่ำนี้ จะมีการสอดแทรกแนวคิด เรื่องการละความชั่วและกลับตัว กลับใจ ปรับพฤติกรรมให้เป็นคนดีเสีย ซึ่งก็เป็นการสอนศีลธรรมจรรยาแกผู้มาเสพมหรสพอย่างตรงไป ตรงมา ลิงดำ อุปลักษณ์แทนความประพฤติที่ชั่วร้าย ความโง่ มัวเมา การเสพสิ่งเสพติด สุรายาเมาจนเกิดการขาดสติ การบันดาลโทสะ และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ ลิงขาว อุปลักษณ์แทน ผู้ซึ่งรักษาไว้ซึ่งกฏระเบียบ ผู้พิทักษ์ศีลธรรมอันดีงาม ผู้ประติตัวดีอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้ชาดสติ มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และมีความเคารพ อ่อนน้อม เชื่อฟัง ต่อผู้ใหญ่อย่างพระฤาษี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสังคมของเรามีเพียงสีขาว และ สีดำ เช่นนั้นหรือไม่ ?
สรุปว่าการแสดงชุดจับลิงหัวค่ำ ใครจับใคร?
ตอบ ลิงขาว จับ ลิงดำ
จับทำไม?
ตอบ จับไปส่งพระฤาษีเพราะลิงดำอาละวาด
จับช่วงเวลาอื่นได้ไหม ?
ตอบ ตามขนบการแสดงโดยทั่วไปแล้ว จะเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ จึงนำมาใช้เรียกการแสดงชุดนี้ว่า “จับลิงหัวค่ำ”
อ้างอิง
บทความ
รัตนพล ชื่นค้า. บทพากษ์-เจรจาหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง : มรดกวรรณคดีการแสดงของชาวบ้าน ในวารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558
เว็บไซต์
บทเบิกโรงเรื่องจับลิงหัวค่ำ พระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ. https://bit.ly/3NITRoo. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565
พืชมีพิษ ลำโพง. http://www.rspg.or.th/plants_data/use/toxic_50.htm. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565
การแสดงจับลิงหัวค่ำ. https://www.youtube.com/watch?v=9lTvZvJz0cM&t=472s. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565