Site icon Primate Studies Blog

แนะนำหนังสือ : วานรศึกษา

ชื่อหนังสือ : วานรศึกษา

บรรณาธิการโดย : ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และ ผศ.ดร.วรวิทย์ บุญไทย

หน่วยงานผู้จัดพิมพ์ : คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ ห้องปฏิบัติการมานุษยวิทยากายภาพและชาติพันธุ์วิทยา

หนังสือวานรศึกษา ป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำนิทรรศการ Primate & Me ของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ แต่จะใช้คำว่าเป็นหนังสือ “ประกอบ” นั้น “ผิด” เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการนำบทนิทรรศการหรือเนื้อหาภายในนิทรรศการมาเปิดเผยแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการรวมบทความที่ช่วยเล่าเรื่องการศึกษาเรื่องลิงในประเทศไทยให้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น ใครจะมาชมนิทรรศการโดยไม่ชอบอ่านหนังสือ หรือ ใครที่ชอบอ่านหนังสือแต่ขี้เกียจมาชมนิทรรศการก็ได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าจะใช้คำว่าหนังสืออันเนื่องด้วยการจัดทำนิทรรศการก็พอได้

โดยเนื้อหาของหนังสือนั้น เป็นการรวมบทความของนักวิชาการที่ศึกษาลิงในความหมายของนักวิทยาศาสตร์หรือนักชีววิทยา และ อีกส่วนหนึ่งเป็นบทความที่เขียนโดยนักมานุษยวิทยา นามกระเดื่องหลายท่าน ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้สนใจเรื่องลิงเช่นกัน ฉันมองว่าเป็นหนังสือที่พยายามจะเชื่อมโลก 2 ใบเข้าไว้ด้วยกัน คือลิงในความหมายของสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับ Primate และลิง ในฐานะที่เป็นมิติกับความข้องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ทั้งในแง่วิวัฒนาการของมนุษย์ การปรากฎตัวในวรรณกรรมทางศาสนา หรือมิติทางเพศของผู้ศึกษาลิง ดังนั้น หากจะพูดตรงๆอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่คน 1 คน ซึ่งอาจมี background ความรู้ อย่างหนึ่ง อ่านแล้วจะชอบหรือสามารถเข้าใจได้ง่ายในทุกบทความ แต่ความพยายามในการเชื่อมโยงโลกทั้ง 2 ใบของหนังสือเล่มนี้ ให้ถือเป็นก้าวแรกของวงการวานรวิทยา/วานรศึกษาในเมืองไทย ให้มีชีวิตและเกิดสีสันขึ้นมา นอกจากนั้น มันก็เหมือนกับวงการ study ต่างๆ ไม่มี jigsaw ใดที่สมบูรณ์แบบ ความสนุกคือการหยิบเอาความรู้ที่กระจัดกระจายจากศาสตร์ต่างๆเอามารวมกันแล้วเล่าด้วยน้ำเสียงใหม่

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร ?

1.คนที่สนใจเรื่องลิง

2.คนที่สนใจเรื่องลิงกับนิเวศวิทยา

3.คนที่สนใจเรื่องลิงกับคน

4.คนที่เป็นแฟนคลับท่านนักเขียนต่างๆที่ปรากฎชื่อเป็นนักเขียนรับเชิญ

5.คนที่สนใจประเด็น Ethnoprimatology

อ่านบทนำได้ที่…

Exit mobile version