1.เรื่องรัก รัก ของวานร
มีบทกวี บทเพลง วรรณกรรมมากมายที่อุทิศให้ความรัก ตลอดจนความพยายามที่จะให้นิยาม ความหมายของคำว่ารักที่หลากหลายและกว้างไกล ดูเหมือนว่าความรักจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความรับรู้ และการกระทำของมนุษย์ไม่น้อย เพราะความรักประกอบไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำอื่นๆที่ซับซ้อนทั้งความพึงพอใจ ความใกล้ชิด ความผูกพันความสัมพันธ์ต่อกัน การตีความการกระทำ คำพูดระหว่างกันที่ไม่รู้จบสิ้น ไม่เพียงแต่ในด้านอรมณ์ ความรู้สึกเท่านั้น ความรัก เป็นเหมือนกลไกขับเคลื่อนระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ ในอันที่จะสืบเผ่าพันธุ์และส่งต่อ DNA ของตนเองต่อไป อาจไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่าพฤติกรรมและการกระทำหลายๆอย่างของมนุษย์เกิดจากแรงขับทางเพศที่เป็นสัญชาติญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป
ความรัก อาจเป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เป็นของขวัญ หรือคำสาปที่พิเศษสำหรับมนุษย์ โดยมนุษย์อุทิศเวลา และความสิ้นเปลืองทางอารมณ์มอบให้แก่สิ่งที่เรียกว่าความรัก แต่สำหรับการสืบพันธุ์แล้ว ไม่ได้เป็นกระบวนการพิเศษที่เกิดขึ้นแต่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น ญาติที่ใกล้ชิดของเรา บรรดาสมาชิกในอันดับไพรเมต ก็มีการแสดงออกและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ แม้เราจะไม่สามารถตอบได้ว่าลิงนั้นรักกันหรือเปล่า แตเราอาจพอตอบได้ว่าลิง เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างใกล้ชิด ทั้งระหว่างสมาชิกในฝูง ระหว่างคู่ของมัน และต่อลูกน้อยของมัน
2.เรื่องรัก รัก ของวานร : การแสดงออก
2.1 Grooming: ทำไมลิงถึงชอบหาเห็บ หาเหาให้กัน?
เราอาจเคยเห็นภาพของลิง หาเห็บ หาเหาให้กัน นอกจากจะดึงขน ไซร้ขนแล้ว เผลอๆอาจหยิบปรสิตที่หาเจอเข้าปากอีกด้วย พฤติกรรมการทำความสะอาดขนหรือการ Grooming นั้น พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในสัตว์อันดับไพรเมต หรือลิงชนิดต่างๆ เนื่องจากลิง เป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นฝูง จึงสามารถสังเกตเห็นภาพที่เหล่าบรรดาลิงในฝูงนั่งพักผ่อนและ grooming ให้กันได้ง่าย ลิงภายในฝูงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมัก grooming ให้กัน เช่น แม่ทำให้ลูก พี่ทำให้น้อง ตัวเมียทำให้คู่ของตัวเอง ถ้าหากจะเรียกอย่างด้วยคำศัพท์อย่างมนุษย์ก็อาจพูดได้ว่าการ grooming คือการสัมผัสกันและกันอย่างใกล้ชิดด้วยความรักใคร่สนิทสนม อย่างไรก็ตามการ grooming ไม่ได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมหรือสนิทสนมแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งการ grooming แสดงถึงความสัมพันธ์ทีไม่เท่าเทียมได้ เช่น อาจพบว่าตัวที่มีลำดับในฝูงสูงจะได้รับการ grooming ที่บ่อยครั้งมากกว่าตัวที่มีลำดับในฝูงต่ำ ในขณะเดียวกันตัวที่มีลำดับในฝูงสูงนั้นมักจะเป็น “ผู้รับ” มากกว่า “ผู้ให้” การ grooming กับลิงตัวอื่นในฝูง ลิงที่อยู่ในลำดับต่ำมากๆและไม่ค่อยมีตัวที่สนิทด้วยอาจถึงขั้นขนหยาบเป็นสังกะตัง หรือบางครั้งการ grooming ก็ทำด้วยเหตุผลแฝงบางอย่าง เช่น ลิงตัวผู้จะ grooming ให้ตัวเมียเมื่อต้องการผสมพันธุ์ หรือลิงตัวเมียทำให้สามารถอาศัยอยู่ในกลุ่มได้ในระยะยาว สำหรับประโยชน์ในการ grooming โดยเฉพาะในสัตว์อันดับไพรเมตนั้น มีประโยชน์หลายประการ คือ ประการแรก ประโยชน์ในการรักษาความสะอาด กำจัดปรสิต กำจัดผิวหนังที่ตายแล้ว กำจัดความสกปรกตามขน ประการที่สอง ประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลิงที่เป็นพันธมิตร มีความใกล้ชิด สนิทสนมกันในฝูง มักจะ grooming ให้กันเพื่อแสดงถึงความใกล้ชิด ความเป็นพวกเดียวกัน เนื่องจากพันธมิตรกลุ่มย่อยในฝูงมักมีการแลกเปลี่ยนซึ่งอาหาร การช่วยเหลือกันด้านความสะอาด ประการที่สาม เป็นเครื่องมือในการลดความตึงเครียดและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายในฝูง สำหรับวิธีการโดยทั่วไปที่เหล่าลิง grooming ให้กันและกันนั้น ส่วนใหญ่ก็จะใช้ มือ ฟัน ลิ้น สาง ดึงขน และกำจัดปรสิตให้กัน อย่างไรก็ดีเคยมีการศึกษาของ Susan M Weinberg และ Douglas K Candland แห่ง Bucknell University พบว่าในลิงญี่ปุ่น แม่ลิงใช้หินเป็นเครื่องมือในการ grooming ให้ลูกลิง ซึ่งการใช้เครื่องมือในการ grooming ไม่พบในลิงชนิดอื่น[1]
2.2 Sexual dimorphism in non-human primate : ลิงตัวผู้ ลิงตัวเมีย ดูตรงไหน ?
ลิงชนิดเดียวกัน ทุกตัวจะดูเหมือนกันหมดอย่างนั้นหรือ ? นอกจากอวัยวะเพศแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลิงตัวไหนเป็นตัวผู้และลิงตัวไหนคือลิงตัวเมีย ? สำหรับสมาชิกในอันดับไพรเมตที่มีความแตกต่างหลากหลายของขนาดและสีสันของแต่ละชนิดพันธุ์แล้ว ในระหว่างลิงชนิดเดียวกันก็มีความแตกต่างทางเพศในด้านร่างกายด้วยเช่นกัน ความแตกต่างเหล่านั้น อาจปรากฎในลักษณะของขนาดตัว ขนาดฟัน ลักษณะของกระโหลก ลักษณะของ
โครงกระดูก สีขน สีของจุดมาร์คบนร่างกาย หรือเสียงร้อง เป็นต้น ยกตัวอย่างความแตกต่างทางด้านร่างกายเช่น ด้านขนาดตัว ในชิมแปนซี และ โบโนโบ้ ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียถึงเกือบสองเท่า โดยตัวผู้ที่ใหญ่มีแนวโน้มที่จะถูกเลือกผสมพันธุ์โดยตัวเมียมากกว่าตัวผู้ที่มีร่างกายไม่ใหญ่มากนัก ในด้านสีขนและจุดมาร์คบนร่างกาย ลิงแมนดริลตัวผู้ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากลิงแมนดริลตัวผู้จะมีสีสันที่ชัดเจนบนใบหน้าคือแก้มสีฟ้า และแนวจมูกสีแดง มีเคราสีเหลือง ในขณะที่ตัวเมียมีสีที่อ่อนจางกว่ามากจนแทบจะดูเป็นสีน้ำตาล อย่างไรก็ดี ในทางกลับกันใช่ว่าลิงทุกชนิดจะมีความแตกต่างทางเพศในด้านร่างกายเท่านั้น ลิงบางชนิดกลับพบความแตกต่างทางเพศน้อย หรือมองผ่านๆแทบไม่แตกต่างอีกด้วย เช่น ไพรเมตในอันดับย่อย Strepsirrhini (เช่นพวก ลีเมอร์ ลิงลม ทาร์เซีย)[1]
ที่มาภาพ : https://twitter.com/stevestuwill/status/923540164852424704
2.3 Mate choice: ลิงเลือกจับคู่กันยังไง?
ลิงในวัยเจริญพันธุ์นั้นสามารถผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี พฤติกรรมการแสดงออกถึงความสนใจในเพศตรงข้าม และการแสดงความพร้อมที่จะผสมพันธ์ ของเหล่าไพรเมตแต่ละชนิดนั้น มีความแตกต่างกันไป การศึกษาเกี่ยวกับทางเลือกในการผสมพันธุ์ของลิงเพศเมียพบว่าการผสมพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดการตอบสนองขึ้นฉับพลันของตัวเมีย แต่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันแบบซ้ำๆในช่วงระยะเวลาหนึ่งระหว่างตัวเมียกับตัวผู้ โดยตัวเมียมีแนวโน้มในการเลือกผสมพันธุ์กับตัวผู้โดยดูจากสถานะทางสังคม (อันดับในฝูง) ความคุ้นเคย ความสามารถในการช่วยเลี้ยงดูลูก (ในลิงโลกใหม่บางชนิด) และบุคลิกภาพของลิงตัวผู้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของขนาดร่างกาย น้ำหนัก ขนาดฟัน ความยาวของหาง[1] สำหรับการแสดงออกทางร่างกายที่ทำให้เพศตรงข้ามรับรู้ได้ว่าตัวเมียนั้นมีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้ว มีความแตกต่างกัน เช่น ลิงชิมแปนซีตัวเมียจะพบว่าบั้นท้ายของเธอจะบวมโป่งพองเป็นสีชมพูคล้ายดังลูกโป่ง ซึ่งเป็นจุดสะดุดตาต่อลิงแชมแปนซีตัวผู้ ส่วนในชะนีตัวผู้จะใช้เสียงร้อง เพื่อให้ตัวเมียสนใจ และสำหรับกอริลล่า ตัวเมีย จะใช้วิธีสื่อให้ตัวผู้รู้ว่าเธอพร้อมผสมพันธุ์แล้วโดยการนอนคว่ำ ใช้ข้อศอกยันพื้น หันหลังให้ตัวผู้[1]
ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Baboon_buttocks.jpg
3.เรื่องรัก รัก ของไพรเมต: เรื่องรัก ลับ ลับ
3.1 Masturbation: แต่ลิงใหญ่อ้ายทโมนมันโลนเหลือ
สมาชิกในอันดับไพรเมตอย่างมนุษย์มีกิจกรรมทางเพศที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสืบพันธ์ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ อย่างเช่น การช่วยตัวเอง ซึง่ในมนุษย์นั้นถือเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการใช้ความคิดและจินตนาการอย่างมาก สำหรับสมาชิกในอันดับไพรเมตอื่น อย่างลิง ก็พบพฤติกรรมการช่วยตัวเองด้วยเช่นกัน โดยพบในลิงตัวผู้ประมาณ 80 สายพันธุ์ และพบในลิงตัวเมียประมาณ 50 สายพันธุ์[1] โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบในลิงโลกเก่าและไม่พบเลยในกลุ่ม Prosimian การช่วยตัวเองจนสำเร็จสังเกตพบในกลุ่มลิงโลกเก่าทั้งหมด แต่สำหรับกลุ่มลิงโลกใหม่แล้วพบเพียงลิงแมงมุมสายพันธุ์เดียวเท่านั้นที่ช่วยตัวเองจนมีการหลั่งออกมา โดยทั่วไปแล้วลิงก็ใช้มือในการช่วยตัวเองไม่ต่างไปจากคน สำหรับในลิงตัวเมียที่พบว่ามีการช่วยตัวเอง เช่น ในชิมแปนซี อุรังอุตัง ลิงมาโมเสทสีทอง ด้วยวิธีการในการกระตุ้นคริสตอริสและบริเวณฝีเย็บ โดยใช้นิ้วหรือหาง ที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นคือ มีการพบว่าอุรังอุตังทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีการใช้ใบไม้หรือกิ่งไม้ในการกระตุ้นอวัยวะเพศ การใช้เครื่องมือในการช่วยตัวเองนั้นพบเฉพาะในกลุ่มลิงโลกเก่าและในมนุษย์เท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีลักษณะเฉพาะ การช่วยตัวเองของลิงก็เป็นพฤติกรรมที่มีประโยชน์กับตัวลิงเอง นั่นคือ การช่วยตัวเองเป็นไปเพื่อรักษาคุณภาพของสเปิร์มให้มีความใหม่และเป็นการขับสเปิร์มเก่าออกไป เมื่อสเปิร์มใหม่นั่นหมายความว่าลิงตัวนั้นจะประสบความสำเร็จในการติดลูกมากขึ้น และการช่วยตัวเองช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและการแสดงออกที่จำเป็นต้องใช้ในการผสมพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีการสันนิษฐานว่าลิงช่วยตัวเองเป็นเพราะว่าพวกมันรู้สึกเครียดเกินไปและการช่วยตัวเองจะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ โดยพฤติกรรมการช่วยตัวเองของลิงนั้น เป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั้งลิงในธรรมชาติและลิงที่อยู่ในสถานที่เลี้ยง
พฤติกรรมการช่วยตัวเองของลิงนั้น สำหรับมนุษย์แล้วอาจจะมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ดูทะลึ่ง ทะเล้น หรือกระทั่งหยาบโลน เนื่องจากมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบการกระทำของตัวเองกับสัตว์ชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมทางเพศสำหรับมนุษย์ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ควรกระทำในที่ลับ หรือแม้กระทั่งถูกมองว่าผิดบาป น่าอับอายจนต้องปกปิดและไม่ควรกล่าวถึงอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งไม่เหมือนกับการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางเพศของสัตว์ที่แสดงออกโดยทั่วไป ในวรรณกรรมเรื่องนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ มีคำกลอนบทหนึ่งที่กล่าวถึงลิงว่า
“แต่ลิงใหญ่อ้ายทโมนมันโลนเหลือ จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู
ทั้งลิงเผือกเทือกเถามันเจ้าชู้ ใครแลดูมันนักมันยักคิ้ว”
โดย อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้สันนิษฐานว่า คำว่า โลน ในกลอน น่าจะหมายถึง หยาบ คะนอง มักใช้คู่กับคำว่า หยาบ เป็น “หยาบโลน” ดังนั้น การที่ลิงมัน “โลน” ท่านสุนทรภู่อาจหมายถึงลิงกำลังกระทำพฤติกรรมทางเพศอะไรบางอย่างในที่สาธารณะ เช่น การช่วยตัวเองก็เป็นไปได้[2]
ที่มาภาพ https://www.flickr.com/photos/centipede_legs/2541988912
3.2 Bonobo: Make love not war
ในวงการการศึกษาวิจัยเรื่องลิงหากพูดถึงลิงใหญ่ที่มีความสมัครสมาน เกิดความขัดแย้งรุนแรงน้อย ภายในฝูง และมีพฤติกรรมทางเพศที่แปลกออกไปจากลิงไร้หางชนิดอื่นๆ เรามักจะนึกถึงลิงโบโนโบ้ ชื่อสามัญ Bonobo หรือ Pygmy chimpanzee ชื่อวิทยาศาสตร์ Pan paniscus ลิงโบโนโบ้มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าฝนริมแม่น้ำคองโก สาธารณรัฐคองโก เท่านั้น โดยแต่เดิมเชื่อว่าโบโนโบ้นั้นคือลิงชนิดเดียวกับชิมแปนซีแต่ถูกจำแนกสายพันธุ์แยกออกมาจากชิมแปนซี เมื่ือปี 1929 ในแง่ของพฤติกรรมทางเพศของลิงโบโนโบ้นั้นมีความน่าสนใจเนื่องจาก ลิงโบโนโบ้จะขยันมีเพศสัมพันธุ์กันบ่อยมากๆในเกือบทุกโอกาส จนมนุษย์อาจตีความว่าโบโนโบ้เป็นลิงหื่นหรือลิงหมกมุ่น แต่อันที่จริงโบโนโบ้ใช้การมีเพศสัมพันธ์เป็นเครื่องมือในการแสดงอารมณ์ การสร้างความปรองดอง และลดความขัดแย้ง นอกจาการมีเพศสัมพันธ์เพื่อการสืบพันธ์เท่านั้น เช่น โบโนโบ้อาจมีเพศสัมพันธ์กัยในระยะเวลาสั้นๆไม่กี่วินาที เพื่อแสดงความดีใจกับเพื่อนที่ตนสามารถเก็บผลไม้ที่ชอบใจได้ นัยว่าการมีเซ็กซ์อาจเป็นไปเพื่อลดทอนความตื่นเต้นหรือในบางครั้งการมีเซ็กซ์อาจแค่เป็นการทักทายสวัสดีเท่านั้น นอกจากนั้นจากการสังเกตของนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าการมีเซ็กซ์ของโบโนโบ้ตัวเมียที่ไปเลียบๆเคียงๆตัวผู้ก็ทำไปเพื่อการขอแบ่งอาหาร[1]
ที่มาภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bonobo_sexual_behavior_1.jpg
4.เรื่องรัก รัก ของไพรเมต : การจับคู่
Courtship: คู่ผัวตัวเมีย
สมาชิกในอันดับไพรเมตที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางกายภาพ แหล่งที่อยู่อาศัยและพฤติกรรมนั้น ในด้านพฤติกรรมการผสมพันธุ์และการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นคู่หรือครอบครัวนั้น ก็มีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน มนุษย์อาจมีความพยายามจะเปรียบเทียบและตัดสินถูกผิดอีกทั้งเป็นตำรวจทางศีลธรรมให้มนุษย์ผู้อื่น มนุษย์ในวัฒนธรรมอื่น หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่อาจใช้กระบวนทัศน์ความเป็นครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว ตัดสินว่าการที่ลิงมีหลายเมียหลายผัวนั้นคือลิงที่กระทำผิดศีลธรรมขั้นร้ายแรง เมื่อลิงได้ผ่านขั้นตอนการเลือกคู่และผสมพันธุ์แล้ว ลิงแต่ละชนิดมีแบบแผนการสร้างครอบครัวและใช้ชีวิตแบบ “คู่ผัวตัวเมีย” แตกต่างกันไป พอจะจำแนกออกเป็นหลารูปแบบ กล่าวคือ รูปแบบฮาเร็ม คือ การมีตัวผู้จ่าฝูงผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัว พบในลิงบาบูนขนฟู ชิมแปนซี เป็นต้น รูปแบบการอยู่ร่วมกันชั่วคราว คือ การจับคู่กันในช่วงเวลาหนึ่ง ออกหากินร่วมกันอาจเพียงไม่กี่วันหรือหลายอาทิตย์ แล้วตัวผู้ก็จากไปใช้ชีวิตลำพัง เช่น อุรังอุตัง หรือรูปแบบการจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต เช่น ครอบครัวชะนี เป็นต้น
จากพฤติกรรม ในการจับคู่ผสมพันธุ์ซึ่งนำไปสู่ลักษณะของการสร้างครอบครัวและสังคมของวานรที่มีความหลากหลาย ก็อดคิดไม่ได้ว่า อันที่จริงแล้วมนุษย์ถูกสร้างให้เป็นพวกผัวเดียวเมียเดียวโดยธรรมชาติ หรือ เกิดจากการขัดเกลาทางสังคม ถ้ามนุษย์ถูกสร้างให้เป็นสิ่งมีชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียว ทำไมปัญหาการนอกใจึงไม่เคยหมดไปในทุกยุคทุกสมัย นอกจากนั้น ในด้านพฤติกรรมทางเพศบางประการที่ผู้เขียนได้ลองสำรวจเรื่องรักๆของเหล่าวานร จะพบว่า อาจจะมีรูปแบบพฤติกรรมบางอย่าง ที่ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับคนอยู่บ้างเหมือนกัน นอกจาก sex จะเป็นเรื่องธรรมชาติในการดำรงเผ่าพันธุ์ของทุกๆสายพันธุ์แล้ว จะเห็นว่าในลิงไร้หางบางชนิดใช้ sex เพื่อการสื่อสาร การแสดงอารมณ์ในด้านความพึงพอใจ หากมอง sex อย่างเปิดกว้าง โดยไม่ปิดกั้นว่าเป็นเรื่องที่อับอายแก่การพูดถึง sex ถือป็นการสร้างความเข้าใจ เป็นวิธีสื่อสารระหว่างภายในสายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจให้เห็นถึงมิติของ sex ในมุมมองอื่นๆ มากกว่าเรื่องที่ผิดศีลธรรม หรือเรื่องที่ต้องแอบคุยกันแบบลับๆ
[1] Gestation period and parturition. Retrived March 14,2021 from https://www.britannica.com/animal/primate-mammal/Natural-history#ref225202
[1] Frans B. M. de Waal. (2006) Bonobo Sex & Society. Retrived March 1,2021 from https://www.scientificamerican.com/article/bonobo-sex-and-society-2006-06/
[1] Ruth Thomsen., Volker Somme.Masturbation (non human prinate). available from https://www.researchgate.net/publication/259005786_Male_Masturbation_in_Nonhuman_Primates
[2] ล้อม เพ็งแก้ว. (2563) ลิงโลน-ลิงทำอะไร ใน ลิงโลน โลน.(หน้าที่ 12). เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์
[1] Barbara Tylor.,Tom Jackson. Apes & Monkey. London: Anness Publishing; 2004
[1] Anne C.,Keddy., Hector.Mate . Choice in Non-Human Primate.1992 available from https://academic.oup.com/icb/article/32/1/62/2080685?login=true
[1] Sexual dimorphism in non-human primates. Retrived March 1,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Sexual_dimorphism_in_non-human_primates
[1] Social grooming. Retrived March 12,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Social_grooming