ศึกษาไพรเมตบนปกหนังสือ”ไพรเมตศึกษา”

Study Primate on the Primate Study Book Cover

Primate Story teller : Nan Ariratana

ใครเป็นใครบนปกหนังสือวานรศึกษา :

หนังสือ “วานรศึกษา” เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติร่วมกับห้องปฏิบัติการมานุษยวิทยากายภาพและชาติพันธุ์วิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประกอบการจีดนิทรรศการเรื่อง Primate and Me ของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ผู้เขียนเห็นว่าการออกแบบหน้าปกของหนังสือมีอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่ วันนี้เราเลยขอแหวกม่านภาพศิลปะแบบตัดปะ (Collage Art) ดูหน่อยว่ามีไพรเมตอะไรซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง อย่างไรก็ตามภาพดังกล่าวอาจจะยังไม่ใช่แบบ final ที่ทางคณะผู้จัดทำเลือกใช้ หากมีการจัดทำรฝูปเล่มแล้วเสร็จจะนำมาประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆได้ทราบอีกครัั้ง

เรามาเริ่มจากซ้ายไปขวาดีกว่า

ตำแหน่งที่ 1 และตำแหน่งที่ 2 เราจะเห็นลิง 2 ตัว กำลังทำท่าปีนอยู่อีก 1 ตัว ส่วนอีกตัวนั่งถืออะไรสักอย่างอยู่ในมือ ทั้ง 2 ตัวมีสีคล้ายคลึงกันคือสีน้ำตาลแดง ลิงทั้งสองมาจากหนังสือชื่อ Naturhistorische Abbildungen der Saugethiere (Natural History of Mammals) (1824)  ผู้เขียนภาพคือHeinrich Rudolf Schinz (1777-1861) ชาวซูริค ผู้เป็นทั้งแพทย์และนักธรรมชาติวิทยา ผลงานของนายแพทย์เฮนริคนี้ นอกจากหนังสือรวมภาพวาดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยังมีหนังสือรวมภาพวาดที่เกี่ยวกับปลา และ สัตว์เลื้อยคลานอีกด้วย[1] สำหรับลิงหมายเลข 1 ตามภาพระบุว่าเป็น “Rother Brüllaffe” มีชื่อวิทยาศาสตร์ใต้ภาพว่า Stentor Seniculus ซึ่งคำว่า Brüllaffe ก็คือภาษาเยอรมันที่ใช้เรียกลิง Howler นั่นเอง ส่วน “Rother Brüllaffe” ก็หมายถึงลิงฮาวเลอร์แดง (rot คือสีแดง) ชื่อสามาัญ Red howler ชื่อวิทยาศาสตร์ Alouatta seniculus


[1]Heinrich Rudolf Schinz. Retrieved September 21,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Heinrich_Rudolf_Schinz

ตำแหน่งที่ 2 ตามภาพระบุว่าเป็น “Barenartiger Brüllaffe” มีชื่อวิทยาศาสตร์ระบุใต้ภาพว่า Stentor ursinus ถ้าแปลชื่อสามัญตรงตัวตามภาษาเยอรมันคือลิงฮาวเลอร์หมี หากมาเทียบเคียงกับชื่อสามัญในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ผู้เขียนเองก็ยังไม่พบคำภาษาอังกฤษที่เรียกลิงฮาวเลอร์ชนิดใดว่า “ฮาวเลอร์หมี” หรือ Bear Howler หรือเมื่อนำชื่อวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงกับการจำแนกสปีชี่ส์ของลิงฮาวเลอร์ในปัจจุบัน ยังไม่พบว่าลิงฮาวเลอร์ชนิดใดใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stentor ursinus อย่างไรก็ตาม หากลองค้นชื่อลิงหมีในภาษาเยอรมัน หรือ Barenartiger Brüllaffe ก็พบหลักฐานภาพเขียนสัตว์จากหนังสือเก่าที่พอจะเทียบเคียงได้ดังนี้ คือ ภาพลิงที่ทำกิริยาและองค์ประกอบของภาพใกล้เคียงกับภาพวาดของนายแพทย์เฮนริค ข้างต้น เป็นภาพที่วาด โดย Sir William Jardine  (1788 – 1859)  ปรากฎในหนังสือชื่อ The natural history of monkeys ตีพิมพ์ในปี 1833ได้เขียนชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ด้านล่างของภาพว่า Mycetes ursinus  โดยคำอธิบายของเว็บไซต์ราชสมาคมแห่งลอนดอนที่นำภาพวาดจากหนังสือเก่าภาพนี้มาเผยแพร่ได้ระบุชื่อสามัญว่าเป็น Brown Howler Monkey หรือ ลิงฮาวเลอร์สีน้ำตาล กำลังถือผลไม้อย่างหนึ่งในมือ โดยผลไม้นั้นคือ Inga vera หรือ Ice-cream-bean

ในบทความชื่อ On the howling monkeys (Mycetes, Illiger)[1] โดย J.E. Gray Esq. F.R.S. ตีพิมพ์ในปี 1845 ได้มีการจำแนกลิงฮาวเลอร์ออกเป็น 9 สายพันธุ์ (ในปัจจุบันมีการจำแนกออกได้ 12 สายพันธุ์)[2] โดยระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของลิงฮาวเลอร์สีน้ำตาลไว้ว่า Mycetes ursinus  และหากเป็นลิงฮาวเลอร์สีน้ำตาลจริงจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า Alouatta guariba จากชื่อวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบันนั้น จะพบว่าอันที่จริงแล้ว Mycetes  คือชื่อพ้อง (Synonyms) ของวงศ์ลิงฮาวเลอร์ที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่าวงศ์ Alouatta นั่นเอง


[1] J.E. Gray Esq. F.R.S. (1845) XXII.—On the howling monkeys (Mycetes, Illiger)

[2] Brüllaffen. Retrieved September 21,2021 from https://de.wikipedia.org/wiki/Br%C3%BCllaffen

ลิงฮาวเลอร์ หรือภาษาไทยบางทีเรียก “ลิงหอน” เป็นลิงโลกใหม่ ที่มีลักษณะเด่นทางกายภาพคือมีหางที่หยิบจับหรือใช้ห้อยโหนได้ หรือที่เรียกว่า  prehensile tails ลักษณะที่โดดเด่นอีกอย่างที่เป็นที่มาของชื่อลิงหอนก็คือ มันสามารถใช้เสียงอันดังเห่าเพื่อบอกอาณาเขตหรือขับไล่ลิงตัวผู้ตัวอื่นที่เข้ามาในอาณาเขตของมัน จนได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีเสียงดังที่สุดในป่า แต่เสียงที่เปล่งออกมานั้น น่าจะใกล้เคียงเสียงเห่าของหมามากกว่าเสียงหอน ว่ากันว่าเสียงเห่าของมันนั้นสามารถได้ยินไปไกลมากกว่า 4.8 กิโลเมตรเลทีเดียว

ตำแหน่งที่ 3 บริเวณสันปกหนังสือ ไพรเมตแขนยาวที่เอาแขนห้อยอยู่ตรงตัว สระ อา เดิมทีภาพต้นแบบมีที่มาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะวอลเลซ (Wallace Collection, London) วาดโดยศิลปินชาวเบงคลีที่ใช้ชื่อตามลายเซ็นใต้ภาพว่า Haludar C.  โดยวาดให้กับ Dr. Francis Buchanan-Hamilton (1762-1829) นายแพทย์ชาวสก็อต ผู้เป็นทางแพทย์ นักภูมิศาสตร์ นักสัตววิทยา และนักสัตวศาสตร์ ในช่วงศควรรษที่ 19 ซึ่งในช่วงหนึ่งของชีวิตนายแพทย์ฟรานซิส เขาได้เคยเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ศัลยแพทย์ประจำกองเรือของอังกฤษที่เดินทางไปอินเดียและเป็นแพทย์ให้กับผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย และต่อมาเป็นนักสำรวจให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในการสำรวจที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ สภาพความเป็นอยู่ ศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางด้านประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ ซึ่งรวมทั้งการสำรวจพืชและสัตว์ทั้งในอินเดียและเนปาล[1] ปัจจุบันภาพดังกล่าวอยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (The British Library) สันนิษฐานว่าภาพวาดของไพรเมตแขนยาวดังกล่าวน่าจะวาดอยู่ในช่วงประมาณปี 1799-1806


[1] Francis Buchanan-Hamilton. Retrieved September 21,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Francis_Buchanan-Hamilton

เว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (The British Library) ระบุว่าภาพสัตว์ที่สวยงามจากศิลปินชาวเบงคลีภาพนี้เป็น Moloch gibbons ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง  ชะนีที่มีชื่อสามาัญว่า ชะนีสีเงิน (Silvery gibbon) หรือชะนีชวา (Javan gibbon) ชื่อวิทยาศาสตร์ Hylobates moloch โดยชะนีชนิดนี้มีถิ่นอาศัยเฉพาะที่เกาะชวาเท่านั้นในปัจจุบัน ชะนีสีเงิน อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น  (IUCN Red List) เป็นที่น่าสังเกตว่าหากชะนีชวาเป็นไพรเมตที่มีถิ่นฐานเฉาะบนเกาะชวาเท่านั้น ในช่วงเวลาประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ศิลปินผู้วาดภาพท่านนี้ไม่น่าจะได้พบเห็นชะนีสีเงินที่มีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นไปได้ไหมว่าอาจจะมีโอกาสพบเห็นชะนีจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชนิดนี้จากสวนสัตว์ หรือ สวนพฤษศาสตร์ หรือ แม้กระทั่งหนังสือภาพวาด แต่หากพิจารณาจากชนิดพันธุ์ของชะนีที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่อินเดียในปัจจุบันนี้ จะพบเพียงชะนีคิ้วขาว  (Hoolock gibbons) ซึ่งลักษณะหน้าตาและสีขนก็ไม่ได้เหมือนกับชะนีสีเงินในภาพวาดแต่อย่างใด

ตำแหน่งที่ 4 เราจะเห็นไพรเมตแขนยาวชนิดหนึ่งห้อยโหนอยู่บนต้นไม้โทนสีเทาขาว ภาพดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพชุด 1 ใน 14 ภาพของมหาเวสสันดรชาดก วัดขุนตรา อ.เมือง จ.เพชรบุรี (ไม่ทราบกัณฑ์) เป็นฝีมือการวาดของครูเลิศ พ่วงพระเดช (2437-2513)  ศิลปินด้านพุทธศิลป์คนสำคัญในจังหวัดเพชรบุรี โดยท่านมีผลงานทั้งการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียนตู้พระธรรม งานปูนปั้น หรือกระทั่งงานออกแบบอุโบสถและศาลาการเปรียญ[1] สำหรับภาพวาดที่เป็นที่มาของรูปภาพไพรเมตในตำแหน่งที่ 5 นั้น เป็นภาพวาดสีฝุ่นที่วาดลงบนแผ่นไม้ ใส่กรอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการประดับ ตกแต่งสถานที่ ศาลาการเปรียญในช่วงเวลาที่ทางวัดจัดงานเทศน์มหาชาติ


[1] ประวัติครูเลิศ พ่วงพระเดช. เข้าถึงเมื่อ 21 กันยายน 2564 จาก https://web.facebook.com/104616987727013/posts/276312007224176/?_rdc=1&_rdr

ภาพไพรเมตแขนยาวในภาพนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นชะนี เนื่องจากไม่มีหางและตามภาพมีการแสดงการเคลื่อนไหวแบบห้อยโหน หรือการเคลื่อนที่ด้วยการใช้แขนโล้ตัวไปข้างหน้า (brachiation) นอกจากนั้นแล้วยังมีลักษณะทางกายภาพที่ช่วงแขนที่ยาวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงลำตัวโดยลักษณะทางกายภาพนี้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวแบบห้อยโหนและการโยนตัวไปข้างหน้า ชะนี เป็นไพรเมตที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วชะนีที่ปรากฏในภาพน่าจะเป็นชะนีชนิดใด? หากวิเคราะห์จากบริบทของสถานที่ในการสร้างงานพุทธศิลป์ในท้องถิ่น จิตกรอาจมีจินตนาการถึงชะนีที่มีถิ่นฐานอยู่ภายในประเทศไทย หรือหากกล่าวให้แคบลงอาจมีความตั้งใจวาดชะนีที่มีถิ่นฐานอยู่ภายในพื้นที่ใกล้เคียงกับถิ่นฐานของศิลปินเอง ดังนั้น ความเป็นไปได้คือชะนีที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย สำหรับชะนีที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมี 4 ชนิด คือ ชะนีมือขาว Hylobates lar ชะนีมือดำ Hylobates agilis ชะนีมงกุฎ Pileated gibbon  และ ชะนีเซียมมัง Symphalangus syndactylus แต่เนื่องด้วยการปรากฎตัวของชะนีในภาพวาดดังกล่่าว เป็นเพียงภาพกาก หรือภาพเขียนที่เป็นส่วนประกอบของเรื่องซึ่งไม่ได้แสดงเนื้อหาหลักของเรื่องที่ต้องการสื่อสาร โดยภาพกากมักปรากฎในรูปแบบของวิถีชีวิตของชาวบ้าน  ชีวิตสัตว์ในธรรมชาติ  ที่แฝงไปด้วยมุขตลกหรือเรื่องทางเพศ ดังนั้น รูปชะนีที่ปรากฎในภาพจึงมีลักษณะที่เห็นเพียงรูปลักษณะทางกายภาพคร่าวๆเท่านั้น ไม่ได้มีการลงรายละเอียดของภาพวาดมากเท่ากับภาพเหมือน หรือ ภาพวาดทาางวิทยาศาสตร์ การที่จะสามารถจำแนกชนิดพันธุ์ของไพรเมตหรือชะนีชนิดต่่างๆได้อย่างชัดเจน อาจจะต้องคำนึงถึงสีขน ตำแหน่งของสีขน หรือสีของอวัยวะต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการชมภาพจิตรกรรมนั้น อรรถรสอย่างหนึ่งของการชมภาพเขียนคือต้องมีจินตนาการของผู้ชมในการตีความและทำความเข้าใจภาพเขียน ถึงแม้ว่าภาพกากของชะนี จะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนถึงชนิดของชะนี แต่หากจะพยายามวิเคราะห์ให้ใกล้เคียงมากขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า ควรตัดความเป็นไปได้ที่จะเป็นชะนีเซียมมัง หรือ ชะนีดำใหญ่ ออกไป เนื่องจากชะนีเซียมมัง มีขนสีดำ และขนาดตัวใหญ่ นอกจากนั้นยังควรตัดชะนีมงกุฎ หรือชะนีเอี๊ยม ออกไปเสียจากความเป็นไปได้ เนื่องจากขนบริเวณรอบวงหน้าถึงหน้าท้องเป็นคนละสีกับสีขนตามลำตัว นอกจากนั้น ชะนีมงกฎ ยังมีขนบริเวณใบหน้าแผ่บานไปทางด้านข้างหากมองไกลๆจะเห็นรูปทรงบริเวณศรีษะคล้ายๆสามเหลี่ยมหัวกลับ ดังนั้น ความเป็นไปได้ของชะนีในภาพกากคือ ชะนีมือดำ กับ ชะนีมือขาว โดยชะนีทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถมีสีขนได้ทั้ง 2 สี คือ สีเข้มแบบดำหรือน้ำตาลเข้มมาก กับ สีอ่อน คือสีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีครีม นอกจากนั้น จุดที่สามารถสังเกตได้โดยง่ายคือสีของมือซึ่งเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง เราจะพบว่าหากขยายภาพใกล้ๆปรากฎที่มือและเท้าของชะนีนั้นเป็นสีดำ ซึ่งก็น่าจะเป็นชะนีมือดำอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อสังเกตบริเวณใบหน้าแล้ว หากเป็นชะนีมือดำจริง บริเวณคิ้วจะมีขนสีขาวคล้ายผู้เฒ่าที่คิ้วขาว แต่ในภาพวาดนั้นศิลปินไม่ได้ลงรายละเอียดในการวาดสีคิ้ว ส่วนชะนีมือขาวจะมีขนสีขาวรอบกรอบใบหน้าไม่เฉพาะบริเวณคิ้วเท่านั้น ดังนั้น ไพรเมตในตำแหน่งที่ 4 จึงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นชะนีชนิดใด กล่าวคือ มีมือเท้าดำ อย่างชะนีมือดำ แต่มีใบหน้าวงกลมสีขาว อย่างชะนีมือขาว

ตำแหน่งที่ 5 สำหรับชนิดของลิงในตำแหน่งที่ 5 ค่อนข้างเห็นเด่นชัดว่าเป็นลิงหางยาว หรือ ลิงแสม  Macaca fascicularis ซึ่งเป็นลิงที่มีการกระจายพนธุ์และพบเห็นได้ทั่วไปในหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย แต่ความพิเศษของลิงในภาพคือกำลังถือก้อนหินขนาดใหญ่ทำท่าเหมือนจะทุบอะไรบางอย่างหรือโยนก้อนหินนั้นลงมาเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง หากพูดถึงกรณีของการใช้เครื่องมือหินในกลุ่มของลิงแสมแล้วจะพบว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานวิจัยที่เปิดเผยถึงการใช้เครื่องมือหินของลิงแสมที่อาศัยอยู่บนเกาะเปียกน้ำใหญ่ อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง นักวิจัยไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วลิงเหล่านี้มีการใช้เครื่องมือหินมาเป็นระยะเวลานานเท่าใด แต่มีการค้นพบเครื่องมือหินที่ลิงใช้เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา โดยจุดประสงค์หลักของการใช้หินเป็นเครื่องมือคือใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการทุบหอยหรืออุปกรณ์ในการหากินของลิงนั่นเอง  “การกินหอยยังอาจช่วยบำรุงสมองด้วย ในอาหารทะเลมีสารอาหารหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสมองนักวิจัยกำลังปะติดปะต่อข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลิงในอดีตโดยอาศัยการศึกษาเครื่องมือหินของพวกมัน ทีมวิจัยหวังว่าจะพบเครื่องมือหินที่มีอายุเก่าแก่กว่านี้ ทั้งของลิงฝูงนี้และลิงในที่อื่นๆที่รู้จักใช้เครื่องมือหินแบบเดียวกัน”[1]  การค้นพบดังกล่าวอาจเรียกให้น่าตื่นเต้นอีกอย่างได้ว่าลิงแสมนั้นกำลังเข้าสู่ยุคหินแล้ว หากพิจาณาในแง่ของการใช้เครื่องมืออย่างง่ายก็อาจกล่าวเช่นนั้นได้ แต่หากกล่าวในเชิงเปรียบเทียบถึงการก้าวเข้าสู่ยุคหินในแบบมนุษย์จะพบว่าความสามารถในการใช้เครื่องมืออาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการอธิบายการก้าวเข้าสู่ยุคใดยุคหนึ่ง ดังเช่นว่า การที่มนุษย์ในยุคหินมีความสามารถในการใช้เครื่องมือแล้ว มนุษย์ในยุคนั้นยังมีวิวัฒนาการในด้านร่างกาย เช่น การมีสมองที่ใหญ่ขึ้น การมีระบบความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบของครอบครัว ความสามารถในการแสดงออกผ่านการวาดภาพบนผนังถ้ำในยุคหินเก่า เป็นต้น ดังนั้น การเข้าสู่ยุคหิน โดยใช้คำเรียกชื่อยุคที่เหมือนกันอาจจะไม่ได้สะท้อนวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงหรือสอดคล้องกันในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างยุคหินในแบบสกุลHomo กับยุคหินในแบบลิงแสมหรือยุคหินในแบบสกุล Macaca


[1] พบลิงเมืองไทยเข้าสู่ยุคหิน. เข้าถึงเมื่อ 21 กันยายน 2564 จาก https://www.voicetv.co.th/read/377196

ตำแหน่งที่ 6 ภาพคิงคองคลั่งเกาะอยู่บนยอดตึก Empire State แต่เดิมภาพนี้ปรากฎอยู่ข้างกล่อง Kellogg’s Corn Flakes อาหารเช้าประเภทธัญพืชอบกรอบ โดยกล่องผฃิตภัณฑ์รุ่นนี้วางจำหน่ายในปี 2005 แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่อง King Kong แล้วนั้น ถือเป็นภาพยนตร์แนวตัวประหลาดทำลายล้างที่ได้รับการผลิตซ้ำหลายครั้ง ทั้งในชื่อเดิมและชื่ออื่นๆ โดยใรายละเอียดแต่ละภาคจะมีการปรับปรุงรายละเอียดเนื้อหาบ้าง แต่สำหรับตัวเอกของเรื่องนั้นจะยังคงเป็นกอริลล่ายักษ์ผู้แสนโหดร้ายและบ้าคลั่งเหมือนกันในทุกๆเวอร์ชั่น หากลองไล่เรียงมาจะพบว่าหนัง King Kong  ภาคแรกออกฉายในปี 1933 หากนับรวมภาคแยกแตกเรื่องย่อยจะพบว่า มีมากถึง 12 ภาค เช่น King Kong Escapes (1967),  King Kong Lives (1986), Kong: Skull Island (2017) หรือ  Godzilla vs. Kong เป็นต้น แต่หากนับแค่ภาคหลักคือ King Kong เฉยๆ จะมีการนำกลับมาทำใหม่ทั้งหมด 2 ครั้ง คือ King Kong  เวอร์ชั่นปี 1976 และ King Kong เวอร์ชั่นปี 2005[1] สำหรับเนื้อหาโดยย่อของภาพยนตร์คิงคองนั้น เกี่ยวกับกอริลล่าที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม จนมีขนาดใหญ่โตผิดปกติ อาศัยอยู่บนเกาะหัวกะโหลก ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ผิดปกติจำนวนมาก มีนักสำรวจกลุ่มหนึ่งเดินทางไปพบเกาะหัวกะโหลกโดยบังเอิญ และจับคิงคองใส่เรือบรรทุกกลับมาสหรัฐอเมริกาเพื่อไปจัดแสดงว่าเป็น สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่แปดของโลก ฉากในภาพยนตร์ที่เป็นที่จดจำ คือฉากคิงคองหลุดออกจากกรงขัง และจับนางเอกปีนขึ้นไปบนยอดตึกเอ็มไพร์สเตต  ในนิวยอร์ก ต่อสู้กับทหารกองกำลังป้องกันประเทศ ก่อนที่จะถูกเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบยิงตกลงมาตาย[2] สำหรับภาพต้นแบบของปกหนังสือ Primate Study นั้น เป็นภาพข้างกล่อง Kellogg’s Corn Flakes ที่ออกขายในปี 2005 ซึ่งมีความสอดคล้องกับปีที่มีการนำภาพยนตร์ King Kong กลับมาทำใหม่


[1] King Kong.Retrieved September 21,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/King_Kong#Filmography

[2] คิงคอง. เข้าถึงเมื่อ 22 กันยายน 2564 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%87

จากภาพโปสเตอร์ของภาพยนตร์คิงคองทั้ง 3 ภาค และภาคย่อยอื่นอีกนับรวมแล้ว 12 ภาค ยังไม่นับรวมภาพของคิงคองที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ดูเหมือนว่าคิงคองจะเป็นภาพตัวแทนของความคุ้มคลั่ง ป่าเถื่อน การใช้สัญชาติญาณสัตว์ป่าที่ขาดเหตุผล ในบางภาคคิงคองเป็นพวกบ้าผู้หญิงและสุดท้ายต้องตายเพราะหญิงสาว แม้ในบางภาคที่ไม่ได้เน้นให้ตัวเอกฝ่ายหญิงดู sexy และกลายเป็นวัตถุทางเพศเสมอไป เช่น เวอร์ชั่นในปี 2005 หรืออย่างเวอร์ชั่นในปี 2017 คิงคอง ยังมีสถานะเป็นเสมือนผู้พิทักษ์บนเกาะหัวกระโหลกที่ช่วยป้องกันมนุษย์ไม่ให้ถูกสัตว์ประหลาดตัวอื่นเข้ารุกราน (สัตว์ประหลาดตัวอื่นที่ว่าที่มีรูปร่างคล้ายเหี้ยยักษ์) จนคนพื้นเมืองบนเกาะหัวกระโหลกนับถือคอง เป็น “พระเจ้า” เลยทีเดียว แต่กระนั้น คิงคองก็ยังดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายและไว้ใจไม่ค่อยได้อยู่ดี ภาพของคิงคอง ซ้อนทับกับลิงไร้หางใหญ่ อย่างกอริลล่า อย่างช่วยไม่ได้ เนื่องจากการใช้รูปร่างลักษณะและหน้าตาของกอริลล่ามาเป็นตัวตั้งในการออกแบบตัวละครคิงคองนี้ แต่อย่างไรก็ตาม

คิงคอง ไม่ใช่  กอริลล่า และ กอริลล่า ไม่ใช่คิงคอง เนื่องจากตามท้องเรื่องแล้วเป็นตัวละครแนว fantasy ที่ระบุว่าเป็นลิงไร้หางที่มีความปกติทางพันธุกรรมโดยในเผ่าพันธุ์ก็เหลือรอดมาเพียงตัวเดียว คิงคอง จึงไม่ใช่กอริลล่าทั่วๆไปที่มีชีวิตอยู่ในป่าของทวีปแอฟริกา หรือตามสวนสัตว์ต่างๆ คิงคอง คือตัวละคร ซึ่งตัวละครไม่จำเป็นต้องมีบุคลิก ลักษณะ อุปนิสัย หรือพฤติกรรมแบบกอริลล่าตัวจริง  ไม่มากก็น้อยภาพจำของตัวละครคิงคองสร้างความเข้าใจผิดว่ากอริลล่าคือลิงไร้หางที่มีความดุร้าย ซึ่งค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของกอริลล่าในธรรมชาติ

ตำแหน่งที่ 7 เป็นภาพเขียนหนึ่งภาพ ซึ่งมีสัตว์ที่คาดว่าน่าจะเป็นลิง อยู่จำนวน 2 ชีวิตด้วยกัน คือ ตำแหน่งที่ 7.1 – ตำแหน่งที่ 7.2 ก่อนที่จะพิจารณาถึงไพรเมตทีปรากฎตัวในภาพ มาดูกันที่ที่มาของภาพกันก่อน สำหรับภาพเขียนที่ดูคล้ายป่าเขียวครึ้มและมีพืชบางอย่างที่มีใบสีแดงอยู่ทางด้านหน้าของภาพนั้น เป็นภาพเขียนที่มีชื่อว่า Tropical Forest with Monkeys ถูกเขียนขึ้นโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส Henri Rousseau (1844-1910) โดยถูกเขียนขึ้นในปี 1910 ปัจจุบันภาพเขียนภาพนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงวอชิงตัน (National Gallery of Art, Washington D.C.) รูโซ นั้นเป็นศิลปินมีลักษณะการเขียนแบบศิลปะนาอีฟ (Naïve art) และ แบบบรรพกาลนิยม (Primitivism)  ว่ากันว่าการเขียนภาพของรูโซเกิดจากการฝึกฝนเองและสอบถามขอคำแนะนำจากจิตกรคนอื่นโดยทั่วเองไม่เคยผ่านการเรียนวาดรูปจากโรงเรียนศิลปะแต่อย่างใด  ภาพที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดหลายภาพเป็นภาพป่าดิบ แม้ว่ารูโซเองจะไม่เคยออกจากฝรั่งเศสไปเห็นป่าดิบด้วยตาของตนเองก็ตาม นอกจากนั้นเขายังได้รับแรงบันดาลใจของภาพเขียนมาจากหนังสือที่มีภาพประกอบ และสวนพฤกษชาติในกรุงปารีส นอกจากภาพเขียนที่แปลกตาแล้ว รูโซก็เขียนภาพของบ้านเมืองและปริมณฑลของปารีสที่มีขนาดเล็กกว่าด้วย รูโซอ้างว่าเป็นผู้ริเริ่มแนวการเขียนภาพประเภทใหม่ที่เรียกว่า “ภาพเหมือนภูมิทัศน์” (portrait landscape) โดยเริ่มการเขียนทิวทัศน์ของบริเวณต่างในกรุงปารีสที่ชอบ และเขียนภาพคนไว้ด้านหน้าของภาพ[1]


[1] อ็องรี รูโซ. เข้าถึงเมื่อ 22 กันยายน 2564 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%8B

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ภาพวาดของรูโซนั้น เป็นภาพวาดที่จากการผสมผสานระหว่างจินตนาการของศิลปินและภาพวัดสัตว์ต่างที่พบเห็นในหนังาือภาพ ดังนั้น อาจจะเป็นการยากที่จะระบุสายพันธุ์ให้แก่บรรดาลิงของรูโซที่ปรากฏในภาพเขียนของเขาได้อย่างแน่ชัด เช่น ลิงในตำแหน่งที่ 7.1 ที่ปรากฎตัวอยู่หลังกิ่งไม้ มีใบหน้าสีดำรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ มีขนรอบใบหน้าพองฟู และบริเวณลำตัวเป็นสีเทา อาจมีความคล้ายคลึงกับ Vervet Monkey  ชื่อวิทยาศาสตร์ Chlorocebus pygerythrus อยู่บ้าง ตรงที่หน้าเป็นสีดำและลักษณะรูปทรงของใบหน้า ส่วนไพรเมตในตำแหน่งที่ 7.2 จะมีขนรอบใบหน้าไปสีขาว พองฟู และขนบนร่างกายเป็นสีเทา ค่อนข้างคล้ายคลึงกับค่างหนุมาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Semnopithecus entellus นอกจากนั้นแล้วในภาพจริงยังมีลิงไร้หางขนาดใหญ่

นั่งเอาเท้าแช่น้ำ มีขนสีน้ำตาลแดง และใบหน้าสีน้ำตาล มือถือท่อนไม้ขนาดยาวสีเขียว หากพิจารณาจากสีขนและความเป็นลิงไร้หางขนาดใหญ่ ไพรเมตในตำแหน่งที่นั่งเอาเท้าจุ่มน้ำจึงมีความคล้ายคลึงกับอุรังอุตัง  ชื่อวิทยาศาสตร์ Pongo แต่หากเปรียบเทียบขนาดกับค่างที่อยู่บนต้นไม้แล้ว ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ค่างและลิงไร้หางใหญ่จะมีขนาดร่างกายที่เท่ากัน แต่หากพิจารณาถึงรูปแบบผลงานของศิลปินแล้วจะพบว่า ภาพวาดของรูโซนั้นยังมีความผิดเพี้ยนเรื่องขนาดของสัตว์ที่ปรากฏในภาพ และขนาดเชิงเปรียบเทียบ เนื่องจาก ศิลปินศึกษาลักษณะทางกายภาพของสัตว์ผ่านทางภาพเขียน ประกอบกับศิลปะแบบนาอิฟนั้น เป็นการผสมผสานจินตนาการของผู้เขียนลงไปแบบไม่ได้คำนึงถึงอัตราส่วนจริงในธรรมชาติ จึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราส่วนของสัตว์ และ พืชที่ปรากฎในงานของรูโซ จะมีความผิดเพี้ยน ไม่สมจริง ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ผู้เขียนไม่สามรถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าไพรเมตทั้ง 2 ชนิดของนั้นตรงกับสายพันธุ์ใด เป็นแต่เพียงการสันนิษฐานคร่าวๆจากลักษณะภายนอกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่าในความเป็นจริงนั้น หากไพรเมตทั้ง 2 ชนิด เป็นสายพันธุ์ที่ผู้เขียนสันนิษฐานจริงๆ เหตุการณ์ในภาพจะไม่สามารถเป็นจริงได้เลย เนื่องจาก ไพรเมตทั้ง 2 นี้ มีถิ่นอาศัยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ ลิง Vervet มีถิ่นอาศัยกระจายทั่วไปในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก ค่างหนุมาน มีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ทั่วเอเชียใต้ และ อุรังอุตัง มีถิ่นอาศัยอยู่ที่เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตำแหน่งที่ 8 หากมองไกลๆจะเห็นเป็นสิ่งประดิษฐ์บางอย่างที่ประกอบกันจนเป็นรูปคน ภาพต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์รูปคนตามที่ปรากฎในปกหนังสือนั้นมาจากภาพ The Instruments of Human Sustenance (Humani Victus Instrumenta): Cooking คาดว่าถูกจัดพิมพ์ขึ้นในช่วงปี 1569 ภาพนี้เป็นผลงานภาพพิมพ์ลงบนกระดาษ ของศิลปินชางอิตาเลี่ยน ชื่อ Giuseppe Arcimbold  (1527 – 1593) ปัจจุบันคอเลคชั่นภาพพิมพ์ภาพนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art, New York)[1]


[1] The Instruments of Human Sustenance. Retrieved September 23,2021 from https://commons.wikimedia.org/wiki/File:The_Instruments_of_Human_Sustenance_(Humani_Victus_Instrumenta)-_Cooking_MET_DP808179.jpg

ลักษณะผลงานและสไตล์ของศิลปะที่เป็นที่จดจำและเป็นที่รู้จักของGiuseppe Arcimboldo คือการเขียนภาพเหมือนบุคคลที่มีลักษณะเหนือจินตนาการ โดยใช้ ผัก ผลไม้ สัตว์ สิ่งของ มาเป็นองค์ประกอบของภาพเหมือนบุคคลซึ่งดูแปลกประหลาดอย่างน่าชื่นชมของผู้คนร่วมสมัยและยังเป็นที่นิยมกันจนถึงทุกวันนี้ นักวิพากษ์ศิลปะถกเถียงกันว่าการวาดภาพประเภทนี้เป็นการวาดของผู้ที่เพียงมีความคิดที่แปลก หรือเป็นเพราะเป็นผู้มีอาการผิดปกติทางจิต นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นสมัยที่ผู้คนนิยมปริศนาและของแปลกต่างๆ ฉะนั้นพฤติกรรมของอาร์ชิมโบลโดก็คงจะเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสมัยมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความผิดปกติทางจิต[1] ด้วยแนวคิดการใช้พืช ผัก สัตว์ สิ่งของ มาเป็นองค์ประกอบในการวาดภาพบุคคล ภาพต้นแบบปกหนังสือที่มาจากงานภาพพิมพ์ใบหน้าบุคคลจึงมีส่วนประกอบมาจากวัสดุที่ใช้ในครัวเรือน โดยน่าจะเป็นเครื่องครัวโลหะต่างๆ


[1] จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด. เข้าถึงเมื่อ 23 กันยายน 2564 จาก from https://th.wikipedia.org/wiki/จูเซปเป_อาร์ชิมโบลโด

ตำแหน่งที่ 9 หากมองไกลๆจะพบว่าเป็นรูปศรีษะของชายสูงอายุท่านหนึ่งกำลังห้อยโหนอยู่ใต้ต้นไม้ต้นเดียวกับชะนีตำแหน่งที่ 4 แต่ชายผู้นั้นกลับมีหางและเท้าคล้ายลิง ภาพต้นแบบของภาพนี้มาจากภาพหน้าปกหนังสือ La Petite Lune นิตรยสารฝรั่งเศสแนวเสียดสีที่ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม ปี 1878 ส่วนชายในภาพนี้คือ Charles Robert Darwin (1809-1882) นักธรรมชาติวิทยาแห่งศตวรรษ เขาปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ส่วนผลงานตีพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของเขาคือ หนังสือ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต)[1] ในช่วงที่ดาร์วินได้ทำการเสนอแนวคิดบรรพบุรุษร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างมนุษย์และลิงไร้หางในหนังสือ The Descent of Manแนวคิดนี้ได้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในด้านที่เห็นว่ามนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงสายพันธุ์เดียวที่พิเศษเหนือกว่าสัตว์อื่นๆและในด้านที่เสียดสีแนวคิดนี้ไปในทางที่ตลกขบขัน


[1] ชาลส์ ดาร์วิน. เข้าถึงเมื่อ 23 กันยายน 2564 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ชาลล์_ดาร์วิน

คนศึกษาวานรบนปกหนังสือวานรศึกษา :         

จากภาพต่างๆที่นำมาตัดปะในการออกแบบปกหนังสือจะพบว่า ภาพที่นำมาตัดปะ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่ 1 รูปคน (ตำแหน่งที่ 9)  กลุ่มที่ 2 รูปวานร (ตำแหน่งที่ 1-7)  และกลุ่มที่ 3 รูปกึ่งมนุษย์กึ่งสิ่งประดิษฐ์ (ตำแหน่งที่ 8) และหากพิจารณาถึงที่มาของภาพแล้วถือเป็นภาพเก่าย้อนยุค ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 – ศตวรรษที่ 19 ยกเว้นภาพลิงแสมที่กำลังถือก้อนหินภาพเดียวเท่านั้น ที่เป็นลิงที่ปรากฎในงานวิจัยในยุคปัจจุบัน สำหรับที่มาของภาพเก่าหลายภาพ เราจะเห็นได้ว่าผู้วาดเป็นนักธรรมชาติวิทยาหรือนักสำรวจผู้กระหายใคร่รู้ในโลกธรรมชาติรอบตัว แม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการเป็นนักสำรวจโดยตรง สิ่งนี้แสดงถึงพลังของนักธรรมชาติวิทยาในศตวรรษก่อนที่บอกเราทางอ้อมว่าคำตอบหรือปัญญานั้น เริ่มต้นที่ความสงสัยใคร่รู้ไม่ว่าคนผู้นั้นจะอยู่ในสถานะใด

หากจะมีใครสักคนตัดสินหนังสือจากหน้าปกแล้ว อาจจะพอปะติดปะต่อได้ว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ในการศึกษาวานรที่ย้อนกลับไปในอดีต แต่หากพิจารณาถึงหัวข้อของบทความที่นำเสนอในเล่มจากปกหลังจะพบว่าเป็นการศึกษาวานรในยุคร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวที่ว่า “อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก” เพราะคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้อาจจะแสดงให้เห็นถึงการศึกษาวานรทั้งมิติทางสังคมศาสตร์และมิติทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นความพยายามนำเสนอองค์ความรู้แบบข้ามศาสตร์ในวงการวานรวิทยาของไทย แม้มิได้มีวัตถุประสงค์หลักในการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของการศึกษาวานรหรือประวัติศาสตร์ธรรมชาติโดยตรง แต่ตัวของหนังสือเองได้ปรากฎเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในประวัติศาสตร์การศึกษาวานรในเมืองไทยแล้ว