1.Planet of the ape : โลก สังคม การเมือง ของวานร
1.1 Planet of the ape: บุกพิภพมนุษย์วานร
ภาพยนตร์ Sci-fi เรื่อง Planet of the ape เวอร์ชั่นดั้งเดิมที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่อง La Planete des Singes (1963) ของนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Pierre Boulle เขาใช้เวลาเขียนนวนิยายเรื่องนี้เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่เขาได้สังเกตการแสดงออกที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ของกอริลล่าในสวนสัตว์มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวานร[1] วรรณกรรมเรื่องนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์ที่มีภาคต่อถึง 5 ภาค ออกฉายระหว่างปี 1968-1973 ต่อมาในปี 2001 Planet of the ape ภาคแรกถูกขึ้นทะเบียนเป็นภาพยนตร์อนุรักษ์ของชาติโดยสภาภาพยนตร์อเมริกัน ถ้าหากคิดว่า 5 ภาคนั้นยาวแล้ว ยังถือว่ายาวไม่พอสำหรับภาพยนตร์ระดับตำนาน เพราะในปี 2001 ถูกนำมาสร้างใหม่โดยผู้กำกับหนังแฟนตาซีอย่าง Tim Burton และหลังจากนั้น ในปี 2011 นักดูหนังรุ่นใหม่ก็คงคุ้นเคยกันดีกับเจ้าชิมแปนซี นามว่า “ซีซาร์” จากภาพยนต์ Planet of the ape ภาคตีความใหม่อีก 3 ภาค ประกอบไปด้วย Rise of the Planet of the Ape (2011),Dawn of the Planet of the Apes (2017) และ War for the Planet of the Apes (2017) โดยเนื้อเรื่องของหนังไตรภาคชุดหลังนั้น มีความเป็นเอกเทศไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับเวอร์ชั่นดั้งเดิมแต่มีความเชื่อมโยงถึงกันอยู่บ้างในบางตัวละคร อย่างไรก็ตามเราสามารถดูหนังไตรภาคล่าสุดโดยไม่กลับไปดูเวอร์ชั่นดั้งเดิมทั้ง 5 ภาค ก็เข้าใจเนื้อหาได้ หากนับรวมเบ็ดเสร็จในภาพยนตร์ตระกูล Planet of the ape แล้ว จะมีหนังลิงครองโลกอยู่ถึง 9 ภาค
เนื้อเรื่องที่เป็นปฐมบทในเวอร์ชั่นดั้งเดิม นั้นว่าด้วยนักบินอวกาศคนหนึ่งที่โชคร้ายยานอวกาศไปตก ณ ดวงดาวลึกลับที่ปกครองโดยเหล่าวานรจึงต้องมีการต่อสู้ ผจญภัย ชิงไหวชิงพริบเพื่อให้ตนสามารถเดินทางกลับไปสู่ดาวเคราะห์โลก ในบางภาคคนตกไปในดาวลิง ดวงดาวซึ่งคนกลายเป็นทาสรับใช้และสัตว์ทดลอง แต่ในบางภาคลิงก็ตกลงมาในดาวเรา ดวงดาวที่ลิงเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงและสัตว์ทดลองสลับกันยานอวกาศตกไปมา โดยแกนหลักของเรื่องในทุกๆภาคจะมีคนและลิงกลุ่มหนึ่งที่มีสัมพันธภาพอันดีต่อกัน มีความเข้าใจในความทุกข์ของอีกฝ่ายและพร้อมจะช่วยเหลือโดยมีความเชื่อมั่นว่าคนกับลิงสามารถอยู่ร่วมพิภพเดียวกันได้ แต่ในขณะเดียวกันมักจะมีกลุ่มคนหรือกลุ่มลิงกลุ่มใหญ่ที่มักไม่เชื่อว่าทั้ง 2 สายพันธุ์ต่างอยู่ร่วมกันได้ จึงมีความหวาดระแวงนำมาซึ่งการต่อสู้ ช่วงชิงการนำในโลกใบนั้น สลับกันไปจนทำให้เรามีหนังสนุกๆดูถึง 9 ภาค
ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ชุด Planet of the ape นั้นมีหลายองค์ประกอบแต่หากจะมุ่งเน้นไปที่เหตุผลด้านความรู้สึกของผู้ชม ก็คือ ความรู้สึก “กลัว” ที่แฝงฝังอยู่ในใจลึกๆของคนที่มีต่อญาติใกล้ชิดในอันดับไพรเมตอย่างเหล่าบรรดาประชากรวานร กองทัพวานร และผู้นำวานร ต่างๆในเรื่องที่ล้วนเข้มแข็ง และฉลาดเฉลียว มนุษย์เกรงกลัวที่จะเสียตำแหน่งแห่งที่ในการมีอำนาจนำต่อสายพันธุ์อื่นๆในโลกใบนี้ มนุษย์คิดเสมอว่า Homo sapiens sapiens คือสายพันธ์ุที่ฉลาดที่สุด แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดมีวานรไร้หางสายพันธุ์อื่นวิวัฒน์ขึ้นมาจนฉลาดกว่าเรา นั่นคือจุดจบของมวลมนุษยชาติ ผู้ชมจึงแอบเอาใจช่วยมนุษย์บ้าง หรือแอบเอาใจช่วยลิงที่มีจิตใตดีงามตัวที่เข้าข้างมนุษย์บ้างในบางภาค เราจินตนาการถึงโลกที่ลิงเป็นใหญ่ ปกครองโดยลิง บริหารงานโดยลิง เพื่อประโยชน์ของประชากรลิง หากส่่องกระจกดูเนื้อเรื่องมันแทบไม่ต่างจากโลกการเมืองและสังคมของมนุษย์เราเลย นั่นคือภาพสะท้อนของสังคม การเมืองของคน แค่เปลี่ยนจากคนเป็นลิงเฉยๆ
1.2 โลก สังคม การเมือง ของวานร : ความสำคัญและข้อจำกัดในการศึกษา
หากใคสักคนพูดว่าต้องการศึกษาหรืออยากรู้เรื่องเกี่ยวกับสังคมและการเมืองในวานรนั้น อันที่จริงแล้วควรหมายถึงการศึกษาที่ครอบคลุมถึงด้านใดกันแน่? หากพิจารณาแยกสองคำคือคำว่า “สังคม” และคำว่า“การเมือง” ออกจากกันจะพบว่ามีความแตกต่างในด้านประเด็นศึกษาในมิติต่อไปนี้
1.2.1 การศึกษาสังคมของวานร (Non-human primate sociality)
โดยทั่วไปพบว่านักวานรวิทยาที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับสังคมของลิงนั้น มักสนใจศึกษาปฏิสัมพันธ์ของวานรใน สาม ประเด็นคือ หนึ่ง เครือข่ายทางสังคมของวานร (social network) สอง การจัดระเบียบทางสังคมของวานร (social organization) สาม โครงสร้างทางสังคมของวานร (social structure) และ สี่ ระบบการจับคู่ผสมพันธุ์ของวานร (mating system) หากมองผ่านประเด็นศึกษาดังกล่าวแล้วจะพบว่าเป็นประเด็นที่นักสังคมวิทยาใช้ประกอบในการศึกษาสังคมมนุษย์เช่นกัน
1.2.2 การศึกษาการเมืองของวานร (์Non-primate politics)
ในเบื้องต้นทุกคนทราบดีว่าทั้งคนและลิงต่างก็เป็นสัตว์สังคม มีการอาศัยรวมกันเป็นคู่ กลุ่ม ฝูงและรวมกันจนเป็นสังคม มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งทางด้านกายภาพ เช่น การหาอาหารร่วมกัน การร่วมมือกันขับไล่ศัตรู และด้านจิตใจ เช่นการปลอบประโลมทางอารมณ์ การเล่นสนุกด้วยกัน ที่ใดมีสมาชิกในสังคมอยู่รวมกัน ที่นั่นย่อมมีการแบ่งปัน มีการจัดสรรผลประโยชน์ มีความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ ตลอดจนอาจมีความพยายามในการประสานผลประโยชน์ของกลุ่มเพื่อดำเนินสภาวะของกลุ่มหรือฝูงให้อยู่ต่อไปได้ และที่ใดมีเรื่องของผลประโยชน์ ที่นั่นย่อมมี “การเมือง” เพราะการเมือง เป็นเรื่องของการประสานและแบ่งปันผลประโยชน์ ลาสเวลล์ นักรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกัน ได้ให้นิยามคำว่า “การเมือง” ไว้ว่า การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อจะตัดสินว่าใคร จะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร (Laswell,1950)[1] แม้ว่าคำว่า “การเมือง” และ “ผลประโยชน์” อาจฟังดูเป็นคำที่มีปัญหาอยู่บ้าง ตรงที่หลายคนอาจจะตีความไปได้ว่า “การเมือง” และ “ผลประโยชน์” นั้นเป็นเรื่องของความสกปรก ชั่วร้าย ซึ่งเป็นการตีความในแง่ลบแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นการตีความที่ใช้ทำลายมิติของการเมืองในภาคประชาชน และการเมืองในภาคประชาลิงให้หดแคบลง เหลือแต่เพียงความหมายในแง่ที่ว่าการเมือง เป็นเรื่องของ “คนดีที่ไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ” เท่านั้น ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าการให้นิยามคำว่า “การเมือง” ก็เป็น “การเมือง” แบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในที่นี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า การเมือง ในความหมายทางรัฐศาสตร์ ดังนิยามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งในบทความนี้จะขอใช้เป็นคำที่ใช้เรียกปฏิบัติการในการจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวทั้งในมิติของคนกับคน คนกับสัตว์ และ สัตว์กับสัตว์ กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าเราจะชอบหรือชังการเมืองก็ตาม แต่ในการที่เราหรือลิงมีลักษณะของความเป็นสัตว์สังคมแล้ว เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำว่าการเมืองและ คำว่าผลประโยชน์ ในการดำเนินชีวิตได้ เพราะการเมืองและผลประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของสัตว์สังคมอย่างแนบแน่น ดังนั้น หากใช้กรอบนิยามทางรัฐศาสตร์มาวิเคราะห์ จะพบว่าการศึกษาการเมืองในวานร น่าจะหมายถึง การศึกษาการจัดสรรผลประโยชน์ในหมู่วานร การเกิดและการบรรเทาความขัดแย้งในฝูง การได้มาซึ่งอำนาจและการหลุดพ้นจากอำนาจของจ่าฝูง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า แนวคิดเรื่องการศึกษาการเมืองในวานรนั้นอยู่ภายใต้ร่มเงาและวิธีวิทยาของนักวานรวิทยา นักพฤติกรรมสัตว์ หรือกระทั่งนักสังคมวิทยานิเวศวิทยา หาใช่นักรัฐศาสตร์ไม่ แต่มุมมองในทางรัฐศาสตร์นั้นอาจเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจเชิงเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรผลประโยชน์ในกลุ่มลิง หากจะยกตัวอย่างการตั้งคำถามให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น การตั้งคำถามที่ว่า เรา(และลิง)จะมีวิธีการล้มจ่าฝูงได้อย่างไร? หรือ เรา(และลิง)เป็นสายพันธุ์ที่กระหายสงครามอยู่ในสัญชาติญาณตามธรรมชาติหรือไม่? ตัวอย่างคำถามทั้งสองคำถามข้างต้นอาจสามารถใช้มุมมองทางรัฐศาสตร์มาช่วยทำความเข้าใจได้กระจ่างขึ้น
1.2.3 ความสำคัญและข้อจำกัดในการศึกษาเปรียบเทียบสังคมและการเมืองของวานร
John Paul Scott ได้กล่าวถึงความสำคัญในการศึกษาประเด็นเกี่ยวกับการเมืองในไพรเมตไว้ว่า มีความสำคัญสองประการคือ หนึ่ง สัตว์ในอันดับไพรเมตเป็นญาติใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับมนุษย์ และ สอง ใช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาถึงพฤติกรรมทางสังคมและองค์กรทางสังคมของ non-human primate อย่างกว้างขวางทั้งในห้องปฏิบัติการและในป่าถิ่นอาศัย[1]ในขณะเดียวกันการเปรียบเทียบสังคมและการเมืองของลิงกับคนนั้นก็มีข้อจำกัด กล่าวคือ แม้ว่ามนุษย์กับลิงไร้หางใหญ่อย่างชิมแปนซีและโบโนโบจะมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันกับมนุษย์ถึง 98.4%[2] แต่ 1.6% ที่แตกต่างกับมนุษย์นั้น แม้จะเป็นเพียงตัวเลขเล็กน้อยแต่ก็เป็นตัวเลขที่สร้างความแตกต่างอย่างมากมายระหว่าเรากับชิมแปนซี เพราะเมื่อวิวัฒนาการได้แยกทั้งสองสายพันธุ์ออกจากกัน การวิวัฒน์ของทั้งสองสายพันธุ์ได้ถูกตัดขาดออกจากกันแล้ว ดังเราจะพบความแตกต่างทั้งทางกายภาพ ความสามารถในการเรียนรู้ การใช้ภาษา ความเข้าใจเชิงนามธรรม หรือความซับซ้อนของการสร้างอารยธรรม ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับลิงย่อมไม่ใช่การศึกษาเปรียบเทียบกับสิ่งสองสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกัน นอกจากนั้น John Paul Scott ยังเสนอว่า Non-human animal (และรวมถึงลิง) ขาดความสามารถในการพัฒนาสถาบันทางสังคมที่มีพื้นฐานมาจากการใช้ภาษา ฉะนั้นจึงไม่มีรัฐบาลของสัตว์ (animal government) และสัตว์จึงไม่สามารถกระทำการทางการเมืองใดๆผ่านทางสถาบันทางการเมืองได้
2.Sociality of the ape : สังคมของวานร
2.1 Group living : รวมกันเราอยู่
เราทราบกันดีว่าลิงมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเช่นนี้ทุกสายพันธุ์ แต่ในเบื้องต้นขอกล่าวถึงสังคมของลิงที่อยู่รวมกันเป็นฝูง เพื่อทำให้เห็นภาพของลิงในฐานะที่เป็นสัตว์สังคมได้ชัดเจนขึ้น Edward O. Wilson ผู้เขียน Sociobiology: The New Synthesis ได้ให้นิยามการอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงว่า หมายถึง กลุ่มของสิ่งมีชีวิตใดๆที่มีสายพันธุ์เดียวกันอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่งและมีปฏิสัมพันธ์กับตัวอื่นอย่างชัดเจนในระดับที่สูงมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น มีข้อสันนิษฐานว่าการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มอาจอยู่ในสัญชาติญาณตามธรรมชาติ และบางข้อสันนิษฐานกล่าวว่าเกิดจากผลของการวิวัฒนาการที่คู่ขนานไปกับความบีบคั้นในระบบนิเวศ การอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆรวมถึงลิงนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีของการอยู่รวมกันเป็นฝูง มี 4 ประการคือ
1.สัตว์สามารถเข้าถึงและส่งต่อข้อมูลถึงกันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการส่งข่าวเมื่อมีสัตว์นักล่าอื่นกำลังเข้ามาใกล้ฝูง
2.เพิ่มประสิทธิภาพในการออกหาอาหาร เช่น การออกล่าเป็นกลุ่ม หรือการออกหาอาหารพร้อมกันเมื่อตัวหนึ่งตัวใดเจอแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์จะมีการส่งสัญาณให้สมาชิกกลุ่มตัวเองทราบ
3.เพิ่มการปกป้องฝูงให้ปลอดภัยจากนักล่าได้
4.เพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์ ในที่นี้หมายถึงมีโอกาสพบคู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่มีความพร้อมในการผสมพันธุ์ได้สูงขึ้นกว่าการอาศัยอยู่เพียงตัวเดียว
แต่การอยู่เป็นฝูงก็มีข้อเสียหรือมีราคาที่ต้องจ่ายในการใช้ชีวิตแบบสัตว์สังคมด้วยเช่นกัน
ข้อเสียของการอยู่รวมกันเป็นฝูง มี 5 ประการคือ
1.ปรสิตและเชื้อโรคสามารถติดต่อถึงกันได้ง่าย
2.เกิดการแข่งขันระหว่างสมาชิกในสายพันธุ์เดียวกัน เช่น ด้านแหล่งอาหารเพราะสัตว์สายพันธุ์เดียวกันนั้นก็จะมีลักษณะของอาหารที่กินในลักษณะเหมือนกัน
3.การมีคู่แข่งในการผสมพันธุ์มากขึ้น ในข้อดีของการได้พบตัวที่สามารถผสมพันธุ์ด้วยได้ง่ายขึ้นก็ถือเป็นข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้พบคู่แข่งภายในฝูงมากขึ้น
4.สมาชิกในฝูงเกิดความเครียดได้ง่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของฝูง กล่าวคือ ขนาดของฝูงที่เล็กหรือใหญ่เกินไปจะก่อให้เกิดความเครียดสูงกว่าฝูงที่มีขนาดพอดี
5.การผสมพันธุ์กับญาติที่ใกล้ชิดเกินไปจะทำให้เกิดลักษณะที่ถดถอยของทายาท[1]
2.2 Primate social organization: ลักษณะของสังคมของไพรเมต[1]
ในทางสังคมวิทยา หากพูดถึงคำว่าSocial organization หรือการจัดระเบียบทางสังคม จะมีความหมายถึง การวางมาตรการหรือการกําหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือแนวทางในการแสดงพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมดําเนินไปด้วยความเป็นระเบียบ เรียบร้อย เพื่อความสงบ
สุขและความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงของสังคม[1] โดยมีองค์ประกอบสำคัญของการจัดระเบียบทางสังคมประกอบไปด้วย บรรทัดฐานทางสังคม สถานภาพทางสังคม บทบาททางสังคม การจัดลําดับชั้นนทางสังคม ควานิยมทางสังคม อุดมการณ์ทางสังคม การบังคับใช้ทางสังคม การควบคุมทางสังคม และการขัดเกลาทางสังคม อย่างไรก็ตามเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของการจัดระเบียบทางสังคมที่นักสังคมวิทยาใช้ศึกษาสังคมมนุษย์โดยทั่วไป แต่สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับระเบียบทางสังคมหรือองค์กรทางสังคมของไพรเมตนั้น นักวานรวิทยาใช้คำว่า Social organization ในการจำแนกลักษณะของสังคมไพรเมต อันมีความหมายถึงขนาดของฝูง ส่วนประกอบของฝูง การร่วมมือกันในฝูง โดยลักษณะของสังคมไพรเมต สามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทด้วยกันคือ
2.2.1 Solitary primate system : อยู่ตัวเดียว
หรือบางครั้งเรียกว่า Neighborhood systems ลักษณะการอยู่ตัวเดียวหมายถึง ตัวที่โตเต็มวัยจะมีอาณาเขตในการใช้ชีวิตออกหากินของตัวเอง แม้ในบางครั้งจะมีการบังเอิญพบเจอตัวอื่นบ้างแต่ก็จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อย อย่างไรก็ตามในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าวานรเหล่านี้เป็นพวกต่อต้านสังคม พวกมันยังคงรักษาเครือข่ายทางสังคมไว้ด้วยการสื่อสารผ่านเสียงและกลิ่น ตัวอย่างเช่น อุรังอุตัง กาเลโก้ ลิงลม ลีเมอร์บางชนิด ทาร์เซียร์บางชนิด เป็นต้น
2.2.2 Pair-bonded systems : อยู่เป็นคู่
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า pair-living primates ถ้าหากเปรียบเทียบกับมนุษย์ก็คือการอยู่รวมกันเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก นั่นเอง เงื่อนไขในการตัดสินว่าเป็นการอยู่ร่วมกันแบบอยู่เป็นคู่หรือไม่นั้นพิจารณาจาก ระยะเวลาการอยู่ร่วมกันเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือ 1 ฤดูกาล และต้องมีความข้องเกี่ยว สัมพันธ์กันอย่างมากระหว่างคู่ เป็นที่น่าสังเกตว่าการอยู่เป็นคู่นั้นจะพบบทบาทในการช่วยเลี้ยงดูลูกของตัวพ่อค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบได้ทั่วไปในสัตว์อันดับไพรเมต ตัวอย่างไพรเมตที่อาศัยอยู่เป็นคู่ เช่น ลิงติติ ลิงนกฮูก ลิงมาโมเสทบางชนิด ลิงแทมมาริน และชะนี เป็นต้น
2.2.3 One-female-multi-male groups : ตัวเมีย 1 ตัว ตัวผู้หลายตัว
ในการอยู่ร่วมกันแบบตัวเมีย 1 ตัว ตัวผู้หลายตัวนั้น หากมีตัวเมียอื่นอาศัยร่วมอยู่ในกลุ่มด้วย ตัวเมียอื่นจะไม่สามารถร่วมผสมพันธุ์กับตัวผู้ในกลุ่มได้ โดยตัวเมียจ่าฝูงจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวให้อีกฝ่ายยอมจำนน การอยู่รวมกลุ่มเช่นนี้ทำให้เกิดการร่วมมือในการช่วยดูแลทารกในฝูงของตัวเมียที่อยู่ในอันดับรองตัวอื่น ตัวอย่าง การอยู่ร่วมกันแบบตัวเมีย 1 ตัว ตัวผู้หลายตัว เช่น ลิงมาโมเสทและลิงแทมมารินหลายชนิด
2.2.4 One-male-multi-female groups : ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียหลายตัว
การอยู่เป็นกลุ่มแบบตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียหลายตัว โดยปกติแล้วตัวผู้จะไม่ยอมให้ตัวผู้จากฝูงอื่นมีโอกาสได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียในฝูง และตัวผู้จ่าฝูงตัวนั้นจะสามารถผสมพันธุ์ได้กับตัวเมียทุกตัวในฝูง สำหรับลักษณะของฝูงเช่นนี้ตัวผู้จ่าฝูงมักจะถูกท้าทายจากกลุ่มตัวผู้อื่นในอันดับรองลงมาอยู่เสมอในการพยายามเข้าแย่งชิงอำนาจเพื่อเข้าถึงการผสมพันธุ์กับตัวเมียในฝูง หากมีการแย่งชิงอำนาจได้สำเร็จ จ่าฝูงตัวใหม่มักฆ่าทารกที่เกิดจากจ่าฝูงตัวเก่า การกระทำเช่นนี้ถูกตีความว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ลิงตัวเมียมีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์ใหม่ได้อีกครั้ง ตัวอย่าง การอยู่รวมกันแบบตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียหลายตัว เช่น กอริลล่า ค่างหลายชนิด ลิงเกวนอนหลายชนิด ลิงฮาวเลอร์ เป็นต้น
ที่มาภาพ https://wallpapercave.com/gorilla-troop-wallpapers
2.2.5 Multi-male-multi-female social systems : ตัวผู้หลายตัว ตัวเมียหลายตัว
เป็นลักษณะของกลุ่มที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมาก ในแต่ละตัวสามารถจับคู่ผสมพันธุ์กันได้หลายตัว ซึ่งจะทำให้สมาชิกในฝูงไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวผู้ตัวใดเป็นพ่อของทารกในฝูง ซึ่งทำให้ฝูงลักษณะนี้มีแนวโน้มในการร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฝูงสูงมาก ตัวอย่างลักษณะของกลุ่มที่ประกอบไปด้วยตัวผู้หลายตัว ตัวเมียหลายตัว เช่น ลิงในสกุลแม็กแคก ลิงคาปูชิน ลิงเวลเวท ลิงกระรอก ลิงวูลลี ลีเมอร์หางวงแหวน ลีเมอร์ซีฟาก้า
2.2.6 Fission fusion societies : อยู่แบบแยกตัวบ้าง รวมตัวบ้าง
เป็นการรวมกลุ่มแบบลื่นไหล คือมีการรวมตัวบ้าง แยกตัวบ้าง มีการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ มีการให้ความร่วมมือกันในกลุ่มน้อยกว่าการรวมกลุ่มแบบตัวผู้หลายตัว ตัวเมียหลายตัว การรวมกลุ่มเช่นนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงทรัพยากร หากพื้นที่ในการหากินเล็ก กลุ่มใหญ่ จะมีความเป็นไปได้ที่สมาชิกบางตัวของกลุ่มแยกตัวออกไปหากินต่างหากแต่อาจมีการกลับมายังกลุ่มเพื่อนอน กลุ่มเช่นนี้มักพบว่าเพศเมียมักจะอยู่กับกลุ่มและมีความผูกพันกับกลุ่มมากกว่า และตัวผู้มักจะเป็นตัวที่ออกไปหากินเองหรือไปอยู่กลุ่มใหม่ ตัวอย่างลักษณะกลุ่มชนิดนี้ เช่น มนุษย์ โบโนโบ ลิงแมงมุม ชิมแปนซี
ที่มาภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:6_bonobos_WHCalvin_IMG_1341.jpg
2.2.7 Multilevel societies : สังคมพหุระดับ
บางครั้งการรวมกลุ่มลักษณะนี้เรียกว่า สังคมแบบชนชั้น (Hierarchical societies) หรือสังคมหน่วยย่อย (Modular societies) เป็นลักษณะการรวมกลุ่มที่ค่อนข้างซับซ้อน กล่าวคือ ในหนึ่งฝูงอาจจะมีกลุ่มย่อยที่มีลักษณะเฉพาะต่างกันหลายกลุ่ม โดยทั่วไปแล้วจะประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยที่มีลักษณะเฉพาะ 2-4 กลุ่ม เช่นหนึ่งฝูงอาจมีกลุ่มตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียหลายตัวอยู่หลายกลุ่ม หรือ ในบางฝูงอาจมีกลุ่มตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียหลายตัวบวกกับกลุ่มตัวผู้วัยหนุ่มหลายตัวเพิ่มเข้ามาด้วย โดยเมื่อรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่แล้ว ทั้งฝูงใหญ่ก็จะมีพื้นที่หากินและแหล่งที่นอนรวมกัน ซึ่งกิจวัตรประจำวันเหล่านี้มีการทำร่วมกันเป็นประจำจึงต่างจากการรวมกลุ่มแบบ Fission fusion societies ที่ขาดความต่อเนื่องในการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือจะเรียกว่าเป็นแค่การ “ไปๆมา” เท่านั้น มีการสันนิษฐานว่ากลุ่มในลักษณะนี้อาจเกิดมาจากวิวัฒนการของกลุ่มแบบ Multi-male-multi-female ที่ใหญ่เกินไป จึงมีการแตกออกมาเป็นกลุ่มย่อยแต่เป็นกลุ่มย่อยที่มีลักษณะเฉพาะต่างกัน ตัวอย่างไพรเมตที่มีลักษณะการรวมกลุ่มแบบสังคมพหุระดับ เช่น ค่างจมูกเชิด บาบูนฮามาเดียร์ บาบูนเกลาด้า
2.3 Primate social structure: ลักษณะโครงสร้างของสังคมของไพรเมต
ความพยายามที่จะอธิบายเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างของสังคมไพรเมต เป็นการอธิบายความหลากหลายของความสัมพันธ์ของแต่ละตัว ตลอดจนแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ที่แต่ละตัวมีต่อกัน โดยจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสามคู่ต่อไปนี้ คือ หนึ่ง ระหว่างตัวเมียกับตัวเมีย สอง ระหว่างตัวผู้กับตัวผู้ และ ระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยใช้เงื่อนไขทางเพศ นอกจากนั้น ลักษณะพฤติกรรมระหว่างกัน โดยทั่วไปแบ่งกว้างๆออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
2.3.1 Affinity and affiliation : พฤติกรรมสนิทสนมของญาติและกลุ่มพันธมิตร
ในวานรชนิดที่อยู่รวมกันเป็นฝูงการได้รับความช่วยเหลือ การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในกลุ่มเป็นอย่างมาก การมีพันธมิตรซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเครือญาติที่มีความใกล้ชิดหรือเป็นกลุ่มที่มีความสนิทสนมต่อกันเป็นพิเศษในฝูงคอยให้การสนับสนุนนั้น หมายถึง การเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น เช่น การเข้าถึงอาหาร การเข้าถึงแหล่งที่นอนที่มีความปลอดภัย หรือความสามารถท่จะดำรงสถานะในกลุ่มอย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างของพฤติกรรมที่แสดงถึงความสนิทสนม เช่น การทำความสะอาดขนซึ่งกันและกันในหมู่ญาติใกล้ชิด เช่น แม่-ลูก พี่-น้อง หรือกลุ่มเพื่อนสนิท หรือการที่ลิงชิมแปนซีเพศผู้มักจะมีกลุ่มเพื่อนเกลอที่สนิทสนมกัน ซึ่งกลุ่มเพื่อนสนิทเหล่านี้จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในกรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่ม หรือการพยายามโค่นล้มอำนาจของจ่าฝูงตัวเดิม ก็ต้องการแรงสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรวัยหนุ่มนี้
2.3.2 Agonistic interactions: พฤติกรรมความขัดแย้งกัน
พฤติกรรมที่แสดงถึงความขัดแย้งกัน หมายถึง การแสดงออกถึงความก้าวร้าวที่บ่อยและรุนแรงของตัวหนึ่งและรวมถึงการแสดงท่าทางยอมจำนนของอีกฝ่าย การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมีความสัมพันธ์กับอันดับในฝูง อย่างไรก็ตามทั้งตัวที่อยู่ในอันดับที่สูงและรองลงมาก็สามารถแสดงความก้าวร้าวและเป็นเหยื่อของความก้าวร้าวได้
2.4 Primate mating system : ระบบการจับคู่ผสมพันธุ์ของไพรเมต
หัวข้อข้างต้นเป็นการจำแนกลักษณะของสังคมไพรเมต แต่สำหรับการระบบการจับคู่ผสมพันธุ์ของไพรเมตนั้น จะพบว่ามีความเหลื่อมซ้อนกับลักษณะของสังคมด้วยเช่นกัน แต่การจับคู่ผสมพันธุ์นั้น เน้นการอธิบายถึงลักษณะการอยู่ร่วมกันเพื่อที่จะสืบพันธุ์หรือการอยู่เป็นครอบครัว ดังนั้น อาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า ในลิงบางชนิดครอบครัวหนึ่งถือเป็นสังคมหนึ่งของชีวิตลิงครอบครัวนั้นๆ (เธอคือโลกทั้งใบของฉัน!) แต่ในลิงบางชนิดครอบครัวหนึ่งอาจเป็นเพียงกลุ่มสมาชิกหนึ่งในฝูง ดังนั้นในหนึ่งฝูงจะประกอบไปด้วยหลายครอบครัว ทั้งญาติใกล้ชิดกันแบบพี่น้องท้องเดียวกัน และ ญาติแบบห่างๆ ลุง ป้า น้า อา เมียเก่าพ่อ ผัวเก่าแม่ หากแบ่งออกเป็นรูปแบบ การจับคู่ผสมพันธุ์ของไพรเมตแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
2.4.1 Monogamy / Monogamous: ผัวเดียวเมียเดียวเช่น ครอบครัวชะนี
2.4.2 Polyandry / Polyandrous: เมียเดียวหลายผัวเช่น ลิงมาโมเสท
2.4.3 Polygyny / Polygynous : ผัวเดียวหลายเมีย ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงผัวเดียวที่ อยู่รวมกัยเมียหลายเมียในฝูงเดียวกัน เช่น กอริลล่า หรือ ผัวเดียว ที่ผัวอยู่ตัวเดียวเป็นส่วนใหญ่แล้วท่องไปหาเมียใหม่ได้เรื่อยๆ อย่าง อุรังอุตัง
2.4.4 Polygany / Polygamous: หลายผัว หลายเมีย เช่น ชิมแปนซี
3.Politics of the ape: การเมืองของวานร
3.1 Interest & Interest aggregation : ผลประโยชน์และการจัดสรรผลประโยชน์แบบวานร
3.1.1 ผลประโยชน์ (Interest)
ดังจะเห็นภาพกว้างๆตามหัวข้อที่ 2 แล้วว่า ไพรเมต ส่วนใหญ่นั้นเป็นสัตว์สังคมที่มีการอยู่รวมกันเป็นคู่หรือเป็นฝูงไม่ต่างจากสังคมมนุษ์ เมื่อมีคนหลายคนอยู่รวมกันก็เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความต้องการที่เหมือนกัน หรือต่างกัน ก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง ในที่นี้ผู้เขียนจึงอยากใช้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มผลประโยชน์มาใช้อธิบายเปรียบเทียบการเมืองของวานร เพราะว่าตามนิยามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนั้น “การเมือง” หมายถึง การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อจะตัดสินว่าใคร จะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร คำว่า “อะไร” ในที่นี้ จึงน่าจะหมายถึง “ผลประโยชน์”ที่พึงจะได้รับนั่นเอง หากพิจารณาในแง่ของมนุษย์เราคำว่าผลประโยชน์อาจมีหลายรูปแบบหลากหลาย เช่น การเข้าถึงปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต การเข้าถึงสิทธิ การเข้าถึงโอกาส การเข้าถึงการมีชื่อเสียงและการได้รับการยอมรับ เป็นต้น ทีนี้ ผลประโยชน์ในแบบลิงๆมันควรจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าลิงคงไม่ต้องการรับผลประโยชน์ในรูปของเงินตรา เพราะเงินคือระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในการซื้อ-ขายสินค้าตามมูลค่า แต่ลิงไม่สามารถใช้เงินได้ เพราะลิงยังไม่ได้เข้าใจระบบสัญลักษณ์ที่ถูกให้มูลค่าและแน่นอนว่าลิงยังไม่มีระบบเศรษฐกิจของตนเอง ดังนั้น ผลประโยชน์ในแบบลิงนั้น น่าจะมาใน 2 ลักษณะคือ
1.ผลประโยชน์ส่วนบุคคล หมายถึง การเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คือ 1.การเข้าถึงอาหาร (food) และ 2.การเข้าถึงการผสมพันธุ์(sex) มีบางท่านให้ความเห็นว่าลิงต่อสู้เพื่อการเข้าถึงอำนาจด้วย (authority) เช่น การพยายามจะล้มจ่าฝูงตัวเก่าแล้วมาเป็นจ่าฝูงเสียเอง ในแง่นี้ผู้เขียนเห็นว่า การกระหายอำนาจของลิงนั้นที่สุดแล้วก็กระทำไปเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น นั่นคือ เรื่องอาหาร กล่าวคือตัวที่เป็นจ่าฝูง หรือตัวที่มีอันดับสูงจะได้กินก่อน เลือกอาหารก่อน อิ่มก่อน ในขณะที่ตัวอันดับรองๆจะได้กินทีหลัง เผลอๆอาจถูกแย่งกิน และ เรื่องเพศ กล่าวคือการเข้าถึงตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์นั่นเอง เพราะการเป็นจ่าฝูงนั้นหมายถึง การยอมรับของตัวเมียในฝูงและและอาจยอมให้ผสมพันธุ์ได้ เนื่องจากปัจจุบันเรายังไม่ทราบได้ว่านอกจากเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรดังกล่าวแล้ว ลิงยังต่อสู้เพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตใจ อย่างความภูมิใจแห่งตน (self-esteem) หรือต่อสู่เพื่อศีลธรรมจรรยา (morality) ในฝูงหรือไม่ ดังนั้น หากกล่าวว่าลิงต่อสู่มาเพื่อการมีอำนาจให้ภูมิใจเล่นๆ โดยไม่ได้สนใจผลประโยชน์ที่ตามมาของตำแหน่งตนเอง อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้เช่นนั้น
2.ผลประโยชน์ของฝูง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 2.1 การรวมกันอยู่เป็นฝูงนั้น เป็นพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของสัตว์หลายชนิดรวมถึงลิง และลิงทุกตัวในฝูงมีความสำนึกรู้ว่าตนเองนั้นเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของฝูง ดังจะเห็นได้จากการที่ลิงมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่เพียงแต่การที่ลิงรู้ว่าตนเองเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มเท่านั้น แต่ลิงยังมีความตระหนักว่าการอยู่รอดของฝูงนั้นเป็นผลดีกับตัวเองอีกด้วย การลุกขึ้นมาปกป้องฝูงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในฝูงลิงที่อยู่รวมกันเป็นฝูงค่อนข้างใหญ่และมีความเหนียวแน่นของกลุ่ม เช่น ลิงที่มีการรวมตัวในลักษณะสังคมแบบ multi-male-multi-female social systems หรือ One-male-multi-female groupsตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงถึงการที่ลิงมีความตระหนักเกี่ยวกับความสัมคัญของฝูงและแสดงพฤติกรรมที่เข้าข่ายปกป้องผลประโยชน์ของฝูง เช่น เมื่อฝูงลิงบาบูนที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาพบผู้ล่าที่กำลังจะโจมตีอย่างเสือดาว บาบูนตัวผู้จะเดินขึ้นมาอยู่ทางด้านหน้าและด้านหลังของฝูง และบาบูนตัวเมียจะเดินตรงกลางโดยรวบรวมเหล่าลูกลิงเข้ามาใกล้ ซึ่งบาบูนตัวผู้ที่อยู่บริเวณแถวหน้านั้นพร้อมที่จะเข้าปะทะกับเสือดาวได้[1] พฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่า การปกป้องความอยู่รอดของฝูงจากผู้ล่าโดยเฉพาะการปกป้องเด็กๆนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นผลประโยชน์ของฝูง หากการปกป้องฝูงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้ว บาบูนที่โตเต็มวัยแต่ละตัวอาจวิ่งหนีไปคนละทิศคนละทางแล้วปล่อยให้เด็กๆเป็นอาหารของเสือดาวไปเป็นแน่ กล่าวอีกทางหนึ่งคือ ผลประโยชน์ของฝูงในที่นี้คือการปกป้องเผ่าพันธุ์บาบูนให้มีโอกาสรอดชีวิตต่อไป หรืออย่างในกรณีข่าวดังเมื่อเดือน มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับลิงลพบุรีตีกันข่าวว่า
“โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสาเหตุมาจากการแย่งเครื่องดื่มที่พวกมันโปรดปรานที่สุด นั่นคือนมเปรี้ยว หลังมีประชาชนนำมาแก้บนกับเจ้าพ่อพระกาฬ และ ฝูงลิงตึกได้มีการข้ามฝั่งเข้าไปในศาลพระกาฬเพื่อขโมยนมเปรี้ยว แต่ไม่สามารถเล็ดลอดสายตาของลิงจ่าฝูงที่ศาลพระกาฬได้ จึงมีการไล่กัดจ่าฝูงลิงตึกตัวที่บุกเข้าไป แต่ด้วยนิสัยของลิงหากเห็นสมาชิกในฝูงถูกทำร้ายก็จะต้องรีบไปช่วยกัน จึงทำให้เราได้เห็นเหตุการณ์ลิงนับพันตัววิ่งไล่กันไม่ต่างจากการยกพวกตีกันของวัยรุ่น” [2]
จากข่าวนี้ เราไม่สามารถสรุปในเชิงนามธรรมได้ว่าลิงมีความรู้สึกรักพวกพ้องจริงหรือไม่ แต่อาจสรุปได้ว่า หากมีการแก่งแย่งทรัพยากรเกิดขึ้นหรือมีการโจมตีจากฝูงอื่น ลิงจะมีการรวมตัวกันโต้ตอบในนามของฝูง
3.1.2 การจัดสรรผลประโยชน์ (Interest aggregation)
ตามที่ผู้เขียนได้เสนอว่าผลประโยชน์ของลิงนั้น อาจหมายถึง 1.ผลประโยชน์เรื่องการเข้าถึงอาหาร (food) และ 2.ผลประโยชน์เรื่องการเข้าถึงการผสมพันธุ์(sex) หากผลประโยชน์ทั้งสองประการที่กล่าวถึงนั้น มีความสอดคล้องระหว่างระหว่างแต่ละตัวหรือระหว่างแต่ละฝูง ย่อมจะไม่เกิดปัญหาเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวจนนำไปสู่การเกิดความรุนแรงตามมา แต่หากผลประโยชน์ดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน ความรุนแรงระหว่างแต่ละตัวหรือแต่ละฝูงย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ทรัพยากรมีจำกัดและลิงทุกตัวมีความต้องการทรัพยากรที่ดีที่สุดให้ตัวเองอย่างไม่จำกัด ฉะนั้น ในสังคมวานรจะต้องมีแบบแผนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างแต่ละตัวและระหว่างฝูง สำหรับวิธีการที่ลิงใช้จัดสรรผลประโยชน์ในแต่ละเรื่องนั้น อันที่จริงจะเรียก “วิธีการ” เหล่านั้นว่า “พฤติกรรม”ก็ได้เช่นกัน ผู้เขียนขอจำแนกวิธีการจัดสรรผลประโยชน์ออกเป็น 2 เรื่อง ด้วยกัน
1.วิธีการที่ลิงใช้จัดสรรผลประโยชน์เรื่องอาหาร
สำหรับลิงที่มีลักษณะสังคมแบบsolitary primate system นั้น ข้อท้าทายของการออกหาอาหาร คือการออกหาอาหารให้พอกับความต้องการในแต่ละวัน ดังนั้นปัญหาที่พบน่าจะมีเรื่องการที่แหล่งหากินถูกทำลาย โดยแต่ละตัวจะมีพื้นที่หากินของตัวเอง (home range) ดังนั้น การขัดผลประโยชน์กันเรื่องพื้นที่หากินอาจจะไม่รุนแรงมาก แต่กรณีของลิงที่อยู่รวมกันเป็นฝูงนั้น ทุกตัวต้องการอาหารที่ดีที่สุด ที่มากที่สุด เท่าที่ตัวเองต้องการ แต่หากอยู่ในเงื่อนไขที่ทรัพยากรมีจำกัดตัวที่เป็นจ่าฝูงจะมีโอกาสได้กินอาหารก่อน กระทั่งสามารถแย่งตัวอื่นกินได้ ตามมาด้วยตัวที่มีอันดับรองๆลงมา ดังนั้น การจัดสรรผลประโยชน์ในแง่นี้ ไม่ได้หมายความว่าตัวจ่าฝูงจะมีความสามารถกระจายทรัพยากรให้ทุกตัวได้อย่างเป็นธรรมและถ้วนหน้า แต่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ในง่ของการกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงทรัพยากร โดยใช้อันดับภายในฝูง และเมื่อกำหนดสิทธิ์ให้ตนเองและกลุ่มเครือญาติใกล้ชิด เช่น ตัวรองจ่าฝูง ตัวเมียตัวที่จ่าฝูงชอบที่สุด จะได้เป็นอภิสิทธิ์ลิงที่ได้กินอาหารเป็นกลุ่มแรก นอกจากในแง่การกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงอาหารของตัวจ่าฝูงแล้วยังกำหนดปริมาณอาหารที่สมาชิกในฝูงมีสิทธิ์จะได้รับแบบทางอ้อมด้วย การกำหนดปริมาณอาหารในแง่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจ่าฝูงจะใช้ตราชั่งมาชั่งตวงอาหารแล้วแจกให้สมาชิกในฝูงกิน แต่หมายถึง สมาชิกจะได้กินในส่วนที่เหลือ ซึ่งส่วนที่เหลือนั้นอาจจะมีมากตามความต้องการของทุกตัวหรือน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกตัวในฝูงก็เป็นได้ การที่ตัวเมียบางตัวมีปัจจัยในการตัดสินใจเลือกคู่ผสมพันธุ์จากอันดับของตัวผู้ในกลุ่ม โดยมักเลือกตัวที่มีอันดับสูง หรือถ้าได้กับจ่าฝูงยิ่งดี เนื่องจากตัวเมียเรียนรู้ได้ว่า หากตนได้เข้าไปมีความข้องเกี่ยวอย่างใกล้ชิดกับตัวจ่าฝูงแล้ว สถานะในฝูงของตนเองจะดีและได้กินอย่างอิ่มหมีพีมันรวมถึงลูกที่จะเกิดมาก็จะมีสุขภาพที่ดี แล้วตัวที่โตมาแบบได้กินอาหารเต็มที่และมีสุขภาพที่ดี มีร่างกายสมบูรณ์ เช่น ขนาดตัว ขนาดฟันเขี้ยว คุณภาพของขนที่สะอาด เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดตัวเมียได้ดี เท่ากับว่าลิงที่อยู่ในสังคมชั้นสูงของฝูงก็จะมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรที่ดี มีสุขภาพดี และมีลิงสาวๆอยากผสมพันธุ์ด้วย อาจกล่าวได้ว่า ประชากรลิงหากไม่หากินเองในบางครั้งอาจได้กินเพียงเศษเดนอาหารจากชนชั้นนำ
2.วิธีการที่ลิงใช้จัดสรรผลประโยชน์เรื่องเพศ
ในมนุษย์เรา หากเรารู้ว่าเราชอบพอกับใครแล้วได้ผสมพันธุ์อยู่กินกับคนที่เรารักก็คงจะเป็นเรื่องที่ดี ในการเลือกคู่ของมนุษย์ นอกจากความรัก ความชอบ ก็อาจมีเหตุผลประกอบอื่นๆด้วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น ในสังคมของวานร หากลิงตัวผู้กับตัวเมียมีความสนใจซึ่งกันและกันและนำไปสู่การจับคู่ผสมพันธุ์โดยไม่มีการต้องแก่งแย่งกันระหว่างตัวผู้ก็ถือว่านั่นไม่ได้มีการขัดผลประโยชน์กัน แต่ในลิงบางสายพันธุ์นั้นจะมีฤดูการผสมพันธุ์ที่เป็นช่วงเวลาที่ชัดเจนและเป็นระยะเวลาสั้น ทุกตัวต้องพยายามหาคู่ให้ได้ นั่นหมายความว่าการแข่งขันและความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ วิธีการจัดสรรผลประโยชน์เรื่องเพศที่ดูจะเป็นการออมชอมนั้นเป็นไปได้ยาก หากการแข่งขันมีสูงสิ่งที่ตามมาคือการต่อสู้อย่างรุนแรง เช่น ในลิงโคโลบัส ตัวเมียจะมีช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่ค่อนข้างสั้น ลิงโคโลบัสจะอาศัยอยู่เป็นฝูงที่ตัวผู้มีสิทธิ์จะผสมพันธุ์กับตัวเมียทุกตัวในฝูง แต่ช่วงเวลานี่เองที่มักจะมีตัวผู้อื่นเข้ามาท้าทายจนเกิดการต่อสู้กันได้[1]
3.2 Political Ideology : อุดมการณ์ทางการเมืองของวานร
อุดมการณ์ทางการเมือง หมายถึง ความคิดที่มีลักษณะที่ชัดเจน (aticulate) ปะติดปะต่อกัน (coherent) และเป็นระบบ (systematic) เป็นระบบความคิดที่สัมพันธ์กับการกระทำ[1] (C.J.Friedrich and Z.K.Brezezinski,1965) การศึกษาอุมการณ์ทางการเมืองจะทำให้เราเข้าใจถึงอำนาจ บทบาท และอิทธิพลของรัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่เป็นตัวแสดงในทางการเมือง[2] สำหรับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ใช้การแบ่งโดยพิจารณาจากการใช้อำนาจรัฐ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.อุดมการณ์เสรีนิยม (liberalism) 2.อุดมการณ์สังคมนิยม (socialism) และ 3.อุดมการณ์ฟาสซิสม์ (fascism) แต่หากพิจารณาอุมการณ์ทางการเมืองที่ใช้มุมมองทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขในการจำแนก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ
1.อุดมการณ์ทุนนิยม (capitalism)
2.อุดมการณ์สังคมนิยม (socialism) และ
3.อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (communism)
โดยอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งในมิติการใช้อำนาจ และ มิติทางเศรษฐกิจนี้ ถือเป็นพื้นฐานของรูปแบบการปกครอง (Forms of government) ในแต่ละรัฐ
อุดมการณ์ทางการเมืองข้างต้นนี้ เป็นรูปแบบของอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐต่างๆทั่วโลก แต่สำหรับในโลกของวานรนั้น การพยายามจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองของวานรได้ ควรพิจารณาถึงอุดมการณ์ทางการเมืองตลอดจนรูปแบบของการปกครองที่วานรใช้ภายในสังคมของตนเอง แต่ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในหัวข้อที่ 2.2 เรื่องลักษณะของสังคมไพรเมตว่า ไพรเมตแต่ละชนิดพันธุ์จะมีลักษณะการรวมกลุ่มทางสังคมที่ชัดเจนเป็นไปตามสายพันธุ์ของตัวเอง โดยในการรวมกลุ่มนั้นแต่ละตัวมีปฏิสัมพันธุ์ต่อกัน มีความร่วมมือ มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการขัดกันซึ่งผลประโยชน์บ้างในบางกรณี หากกล่าวโดยรวมในสังคมของวานรมีการเมืองจริง แต่ในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองและรูปแบบของการปกครองนั้นแตกต่างออกไป เพราะรูปแบบการปกครอง ตลอดจนระบอบการปกครองของแต่ละรัฐนั้นมีพื้นฐานมาจาก “อุดมการณ์” โดยอุดมการณ์ เป็นความคิด ความเชื่อ เชิงนามธรรมที่สัมพันธ์กับการกระทำ ดังนั้น วานร จึงไม่สามารถสถาปนารูปแบบการปกครองในเชิงเปรียบเทียบกับรูปแบบการปกครองที่มีในสังคมมนุษย์ได้ แต่แน่นอนว่าวานรมีรูปแบบการปกครองในแบบของตนเองในฝูง เช่น การกำหนดทิศทางการออกหากินในฝูง โดยจ่าฝูง แต่พฤติกรรมภายในฝูงในลักษณะนั้นยังไม่ใช่รูปแบบการปกครองในความหมายของ รูปแบบการปกครองในแบบสังคมมนุษย์ได้ทุกประการ เช่น เราไม่สามารถสรุปได้ว่า ลิงฝูงใดมีรูปแบบปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ ลิงฝูงใดมีรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยม แต่เราสามารถศึกษาในเชิงพฤติกรรมในฝูงได้ เช่น การจัดสรรผลประโยชน์ของลิงแต่ละฝูงนั้นมีลักษณะอย่างไร บทบาทของจ่าฝูงเป็นอย่างไร หากแสดงเหตุผลออกมาเป็นข้อๆถึงสาเหตุที่ในสังคมวานรไม่มีรูปแบบการปกครองในเชิงเปรียบเทียบกับการปกครองในสังคมมนุษย์ ดังมีเหตุผลต่อไปนี้
1.ลักษณะทางสังคมของวานร มีการปกครองแบบหลวมๆในลักษณะของพฤติกรรมที่แสดงออกในกลุ่มแตไม่ได้มีการเลือกรูปแบบที่ชัดเจนว่าในสังคมของฝูงนั้นมีรูปแบบการปกครองแบบในลักษณะใด
2.รูปแบบการปกครองทุกรูปแบบขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง โดยอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นความคิดในเชิงนามธรรม เช่นแนวคิดเสรีนิยมเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถบอกได้ว่าวานรมีความรู้ ความเข้าใจแนวคิดเชิงนามธรรมที่เป็นพื้นฐานของอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่
3.การปกครองทุกรูปแบบ จะถูกใช้อำนาจผ่านสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เนื่องด้วยวานร ไม่สามารถใช้ภาษาพูดหรือภาษาเขียนเป็นสื่อกลางในการตั้งสถาบันทางการเมืองต่างๆและส่งต่ออุดมการณ์เชิงนามธรรมระหว่างสมาชิกในสถาบันนั้นได้ อย่างไรก็ตามวานรมีภาษาในการสื่อสารระหว่างแต่ละตัวและแต่ละฝูงได้เป็นอย่างดี แต่ภาษานั้นยังไม่ถูกนำมารับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองแล้วนำไปสู่การตั้งสถาบันทางการเมืองได้
อย่างไรก็ตามแม้วานรจะไม่มีรูปแบบการปกครองที่ใช้ผ่านสถาบันทางการเมือง กับทั้งไม่มีรูปแบบทางการเมืองเชิงเปรียบเทียบกับรูปแบบการปกครองในสังคมมนุษย์ แต่หากสังเกตถึงพฤติกรรมบางอย่างที่มีการแสดงออกของวานรภายในฝูงแล้วนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกในทางการเมืองแล้ว อาจมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างในบางมุม เช่น สำหรับฝูงกอริลล่าแล้ว กอริลล่าหลังเงินหรือตัวจ่าฝูงดูจะเป็นศูนย์กลางของความสนใจ มันจะทำหน้าที่ตัดสินใจ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กำหนดความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นำกลุ่มไปสู่แหล่งอาหาร และรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของฝูง ตัวผู้ที่อายุน้อย โดยแผ่นหลังยังมีแต่ขนสีดำที่อายุระหว่าง 8-12 ปี จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยสนับสนุนการปกป้องกลุ่ม[1] จะเห็นได้ว่าแม้ทางหนึ่งกอริลล่าจ่าฝูงดูจะเป็นพ่อบ้านที่มีความรับผิดชอบสูง แต่อีกทางหนึ่งพ่อบ้านกอริลล่านี้ก็มีความเผด็จการสูง ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (totalitarianism) ที่การตัดสินในเรื่องส่วนรวมต่างๆขึ้นอยู่กับบุคคลเพียงคนเดียว หรืออย่างในกรณีของฝูงลิงบาบูนที่ถูกทำการวิจัยโดยนักวิจัยจากสถาบันสมิธโซเนี่ยนพบว่า
แม้ลิงบาบูนจะมีผู้นำฝูงเป็นตัวผู้ที่ตัวใหญ่ที่สุดแต่มันก็ไม่มีอิทธิพลจะสั่งว่าฝูงลิงควรเคลื่อนย้ายไปที่ใด ซึ่งจากการสังเกตการณ์ของนักวิจัยทำให้ทราบว่าลิงเหล่านี้มีการลงคะแนนเสียงโดยที่ทุกตัวสามารถร่วมโหวตได้นักวิจัยทำการศึกษาด้วยการใช้ระบบติดตามจีพีเอส (GPS) ที่มีความคมชัดสูงเพื่อติดตามลิงบาบูนสีมะกอก Papio anubis ที่อาศัยอยู่ในป่าประเทศเคนยาจำนวน 25 ตัว เป็นเวลา 14 วัน และมีการวิเคราะห์คำนวณข้อมูลเพื่อหารูปแบบพฤติกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกลิงบาบูนจะเดินทางไปเป็นฝูงและทำกิจกรรมร่วมกันโดยที่อาจจะมีลิงบางตัวต้องการให้ฝูงของตนเดินทางไปในทิศทางอื่นและทำให้ลิงตัวอื่นๆ พากันเดินตามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นว่าลิงตัวนั้นจะต้องเป็นลิงจ่าฝูงหรือลิงอาวุโส ในบางกรณีลิงที่เดินพาฝูงไปทางอื่นแต่ไม่มีตัวอื่นเดินตามก็จะย้อนกลับมาเข้าฝูงเหมือนเดิม งานวิจัยระบุอีกว่าในกรณีที่กลุ่มลิงเริ่มเดินแยกออกไปในทิศทางที่ต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีการพยายามเดินแบบประนีประนอมอยู่กลางๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายที่แยกกัน เว้นแต่ถ้าทิศทางของลิงฝ่ายต่างๆ ออกห่างกันมากเกินไป ในท้ายที่สุดลิงทุกตัวก็จะเดินตามฝูงของฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่าเสมอซึ่งเป็นลักษณะของการลงคะแนนเสียงอยู่กลายๆ[1]
เมื่อพบพฤติกรรมเช่นนี้ในฝูงบาบูนสีมะกอก เราอาจจะสบายใจขึ้นมาบ้างว่า สมาชิกในอันดับไพรเมต อย่างน้อยยังรู้จักการประนีประนอมและไม่มีลักษณะเผด็จการบ้าคลั่งอำนาจเหมือนกันหมด แต่การสรุปว่าฝูงบาบูนนั้นเป็นนักประชาธิปไตยก็อาจจะไม่สามารถสรุปเช่นนั้นได้ทั้งหมด เนื่องจากการเป็นประชาธิปไตยหมายถึงการรับเอาอุดมการณ์ประชาธิปไตยมาเป็นแนวคิดในการประพฤติ ปฏิบัติ หรือตัดสินใจ แต่ในฝูงบาบูนหรือในสัตว์แต่ละตัวนั้นอาจมีสัญชาติญาณของการประเมินทางเลือกเพื่อเอาตัวรอด การประเมินและการตัดสินใจจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การตัดสินใจว่าจะเดินทางไปทางใดนั้น อาจเกิดจากสัญชาติญาณการเอาตัวรอดหรือประสบการณ์การเรียนรู้ต่อสิ่งแวดล้อมในฝูงว่าควรตัดสินใจเลือกเดินทางอย่างไรใน habitat ของตนเอง สิ่งนี้อาจแตกต่างจากนักประชาธิปไตยตรงที่ ลิงบาบูนตัดสินใจโดยพื้นฐานแนวคิดในการเอาตัวรอด แต่นักประชาธิปไตย อาจตัดสินใจเพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยแม้จะรู้ว่าตัวเองอาจจะไม่รอดก็ได้ นอกจากนั้น การตามเสียงข้างมากของลิงบาบูนอาจไม่ได้หมายความถึงการเป็นประชาธิปไตยเสมอไปแต่อาจหมายถึงการแสดงออกถึงพฤติกรรมกลุ่มหรือพวกมากลากไปก็เป็นได้ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าบาบูนสีมะกอกฝูงนี้ มีพฤติกรรมที่คล้ายกับการตัดสินใจโหวตในระบอบประชาธิปไตย แต่เราไม่สามารถสรุปได้ว่าบาบูนสีมะกอกฝูงนี้เป็นนักประชาธิปไตย
เมื่อพูดถึงเรื่องการปกครองแล้วการสิ้นสุดซึ่งระบบและระบอบการปกครองแบบหนึ่งแบบใดย่อมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโดยเฉียบพลัน การปฏิวัติและการรัฐประหารนั้น มักจะเป็นคำที่มักถูกนึกถึงคู่กันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองขึ้น แต่การปฏิวัติและการรัฐประหารนั้น ก็มีนัยที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การปฏิวัติ (revolution) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีจุดประสงค์อยู่ทึความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยส่วนรวม ในขณะที่ การรัฐประหาร (coup d’éta) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนเหนือความคาดหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบ้างเมือง โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงตัวหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหาร โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด คงแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง[1] จะเห็นว่าทั้งการปฏิวัติและการรัฐประหารนั้น ถือเป็นปฏิบัติการการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ในสังคมมนุษย์หลายสังคมอาจผ่านมาทั้งการปฏิวัติและการรัฐประหาร โดยปัจจุบันมีทั้งรัฐที่ปกครองอยู่ภายใต้คณะรัฐประหารและรัฐที่ปกครองโดยคณะรัฐบาลตามปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองของแต่ละรัฐ โดยรัฐที่มีเสถียรภาพทางการเมือง การปกครองที่มั่นคง จะมีการรัฐประหารน้อยครั้งหรือแทบหมดไป ส่วนรัฐที่ยังมีการพัฒนาทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ประกอบการนิยมใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงก็จะยังคงมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนระยะเวลาในการปกครองภายใต้คณะรัฐประหารนั้นอาจมีระยะเวลาพอๆกันหรือยาวนานการปกครองของรัฐบาลในสภาวะปกติด้วยซ้ำ
สังคม การเมือง การปกครองของวานรนั้น มีการเมืองที่มีเสถียรภาพเสมอไปหรือไม่ และวานรประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลของตนเองด้วยความรุนแรงหรือไม่ ในที่นี้ ผูเขียนจะลองพิจารณาพฤติกรรมบางอย่างของวานรที่แสดงออกมาในการต่อต้านจ่าฝูงโดยขอเปรียบเทียบจ่าฝูง เป็นเหมือนดังรัฐบาลของรัฐ รัฐหนึ่ง จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงจ่าฝูงตัวเดิมหรือการลงสู่อำนาจของตัวที่มีอันดับสูงนั้น ค่อนข้างจะเป็นเหตุการณ์ที่แสดงความรุนแรง เช่น การที่จ่าฝูงถูกท้าทายจากตัวที่มีอันดับรองลงมาจนเกิดการต่อสู้กันจนบาดเจ็บ ดังขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ฆาตรกรรมจ่าฝูงอันน่าสยดสยองของฝูงชิมแปนซี ในสาธารณรัฐเซเนกัล
“ย้อนกลับไปในปี 2007 ฟูดูโกเป็นจ่าฝูงของชิมแปนซี (Pan troglodytes verus) มีสมาชิกใต้อาณัติกว่าสามร้อยตัวพวกมันอาศัยอยู่ในเขตฟองโกลี เขตทุ่งสะวันนาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเซเนกัล แต่ทว่า การก่อกบฏเพื่อขับไล่จ่าฝูงออกจากพื้นที่ได้เริ่มขึ้น เหตุการณ์นี้กินเวลาห้าปี จนในที่สุด จ่าฝูงถูกสังหารด้วยน้ำมือของสมาชิกอันดับต่ำกว่า แรงจูงใจในการฆาตกรรมครั้งนี้คาดว่าเกิดจากการแย่งคู่ผสมพันธุ์…ฟูดูโกเป็นแอลฟาของฝูงนี้ โดยสังเกตจากพฤติกรรมที่ชอบขู่คำรามใส่สมาชิกตัวอื่น ๆ ลักษณะของคิ้วและความยโสโอหังอย่างผู้นำ ทำให้ผู้ช่วยนักวิจัยคนหนึ่งเรียกมันว่า ซัดดัม ตามชื่อของเผด็จการชาวอิรัก ซัดดัม ฮุซเซน แต่ในเดือนกันยายน 2007 ฟูดูโกสูญเสียอำนาจในการเป็นจ่าฝูงให้ตัวผู้อันดับถัดมาชื่อ มามาดู มันถูกทำร้ายอย่างสาหัสจนต้องเดินกะโผลกกะเผลก ในที่สุด เมื่อเดือนมีนาคม 2008 มันถูกขับไล่ออกจากฝูงที่นำโดยมามาดูและบริวาร หลังจากที่มันหายไปจากเขตฟองโกลี พรีทซ์คิดว่าฟูดูโกคงตายแล้ว ฟูดูโกสร้างความประหลาดให้เธอด้วยการปรากฏตัวอีกครั้งหลังจากเวลาล่วงไปเก้าเดือน แต่การกลับมาครั้งนี้ มันมาพร้อมกับความขลาดกลัว ไม่ใช่อย่างผู้นำเช่นเมื่อก่อน มันคอยหลบอยู่หลังต้นไม้บ้าง ตามพุ่มหญ้านอกเขตฟองโกลีบ้าง เป็นเวลากว่าห้าปีที่ฟูดูโกต้องอยู่อย่างคนถูกเนรเทศ ภายใต้การนำของแอลฟาตัวใหม่ มามาดูพี่ชายของดาวิด มามาดูและดาวิดต้อนรับฟูดูโกกลับเข้าฝูงอีกครั้ง แต่ตัวผู้วัยรุ่นตัวอื่น ๆ ในฝูงปฏิบัติกับมันอย่างไร้ความปราณี พวกวัยรุ่นมักจะไล่ฟูดูโกออกจากฝูงและส่งเสียงร้องอย่างเกรี้ยวกราด เป็นเสียงร้องที่คณะวิจัยไม่เคยได้ยินในพฤติกรรมปกติของชิมแปนซี ก่อนตะวันรุ่งของเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2013 พรีทซ์และผู้ช่วยของเธอ ไมเคิล ซาเดียโค (นักวิจัย) ได้ยินเสียงโหวกเหวกห่างออกไปราวครึ่งไมล์จากพี่พักของพวกเขา ฝูงชิมแปนซีกำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วไปลงไปทางใต้จากรังของพวกมัน พร้อมร้องคำรามกึกก้อง พรีทซ์กำลังป่วยจากพิษไข้มาลาเรีย เธอจึงให้ซาเดียโคไปดูเหตุการณ์ สิ่งที่ซาเดียโคเห็นช่างน่าสลด ฟูดูโก ชิมแปนซีอายุ 17 ปี กลายเป็นศพ ที่มือของมันมีรอยกัดและขีดข่วนเป็นจำนวนมาก สมาชิกสองตัวในฝูงกำลังรุมทึ้งและลากร่างไร้ลมหายใจไปมา ในขณะเดียวกัน สมาชิกตัวอื่น ๆ ก็ทุบลงไปที่หัวและลำตัว ที่เท้ามีรูโหว่ขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกัด และแผลนี้น่าจะเป็นสาเหตุการเสียเลือดจนตาย”[1]
3.4 War & Peace : สงคราม กับ สันติภาพ
จากฉากจบอันสยดสยองของเจ้าชิมแปนซีฟูดูโก เราอาจจะเกิดอาการร้อนๆหนาวๆว่า หากมนุษย์เรามี DNA ที่คล้ายคลึงกับชิมแปนซีอยู่ถึง 98% ความรุนแรงจะเป็นสิ่งที่ฝั่งอยู่ในสารพันธุกรรม และเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์เราไม่สามารถมีทางออกแบบอื่น ถึงที่สุดแล้วสภาวะสงครามเป็นสภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสัตว์ในอันดับไพรเมตอย่างนั้นหรือไม่ ในความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงในวานร โดยเฉพาะในชิมแปนซี หลายงานวิจัย โดยอาจแบ่งข้อสรุปได้เป็น 2 แนวคิดด้วยกันคือ แนวคิดที่ว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามสัญชาติญาณและหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ แนวคิดที่ว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญชาติญาณ สำหรับแนวคิดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามสัญชาติญาณ เช่น ในงานเขียนเรื่อง Demonic Males: Apes and the Origins of Human Violence ที่เขียนขึ้นในปี 1997 โดย Richard Wrangham และ Dale Peterson เป็นหนังสือที่พูดถึงปัจจัยทางวิวัฒนาการที่ส่งผลต่อความรุนแรงในมนุษย์ผู้ชาย ผู้เขียนเสนอว่าในสังคมชิมแปนซีเป็นปิตาธิปไตยอย่างสุดโต่ง ไม่มีตัวผู้ตัวใดในฝูงที่จะมีอันดับในฝูงต่ำกว่าตัวเมียเลย อารยธรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ถูกครอบงำด้วยแนวคิดปิตาธิปไตยด้วยเช่นกัน มนุษย์ผู้ชายมีสัญชาติญาณบางประการร่วมกับชิมแปนซี เช่น การครอบงำ การทำสงคราม ความรุนแรง การข่มขืน และการฆาตรกรรม โดยสมองส่วน prefrontal cortex และปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นเหตุที่ทำให้ให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้[1]
ในทางกลับกัน Jane Goodall ได้อธิบายถึงฝูงชิมแปนซีที่กอมเบที่เธอศึกษาว่า ชิมแปนซีนั้นรักสงบ ไม่ก้าวร้าว ในรอบ 1 ปีที่เธอได้สังเกตพบว่าพฤติกรรมโต้เถียงที่สังเกตเกิดขึ้น 284 ครั้ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นพฤติกรรมขัดแย้งเล็กๆน้อยๆ มี 34% ที่อาจถูกเรียกได้ว่ามีการต่อสู้กัน และมีเพียง 10% ที่ถูกเรียกได้ว่า “ความรุนแรง” และไม่พบการบาดเจ็บที่เห็นได้ชัด นอกจากนั้น ยังมีการยกตัวเลขที่เป็นหลักฐานของสงครามในหมู่ชิมแปนซีที่เธอศึกษาในรอบ 37 ปี เช่น ตัวเลขการฆ่ากันตายระหว่างตัวผู้หลั ตัวเลขการฆ่าทารก ตัวเลขการข่มขืน ไม่ได้แสดงหลักฐานออกมาอย่างชัดเจนนัก เช่น ระหว่างปี 1970-1982 ในพื้นที่ศึกษา Mahela ไม่พบตัวผู้ตัวใดที่โดนทำร้ายหรือถูกฆ่าตาย[1] นอกจากนั้น ในการศึกษาสังคมของโบโนโบ้เป็นสังคมแบบมาตาธิปไตย แม่กับลูกชายจะมีความใกล้ชิดกันตลอดชีวิต มีความขัดแย้งที่มีลักษณะรุนแรงน้อยหรืออาจเรียกได้ว่าใช้ sex เป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ยปัญหาภายในฝูง อย่างไรก็ตาม De Waal ผู้ศึกษาสังคมโบโนโบ้เสนอว่าควรระวังในการหลงเชื่อในภาพความโรแมนติคของสังคมโบโนโบ้ เพราะสัตว์มีสัญชาติญาณการแข่งขันตามธรรมชาติและยังมีความร่วมมือภายใต้แต่ละสถานการณ์ แม้พฤติกรรมของโบโนโบ้จะถูกเรียกได้ว่ามีเซ็กซ์เพื่อสันติ แต่สังคมโบโนโบ้ก็มีความขัดแย้งมากมายเช่นกัน พวกมันจึงใช้เซ็กซ์เพื่อสันติ (หรือไกล่เกลี่ยปัญหา) และพวกมันไม่จำเป็นต้องสร้างสันติภาพในกลุ่มเพราะว่าวิถีทางเช่นนั้นในกลุ่มก็เป็นวิถีทางที่สมบูรณ์แบบแล้ว[2]
4.สังคมและการเมืองของวานร : ความเป็นจริงสู่แผ่นฟิล์ม
จากภาพรวมของสังคมและการเมืองของวานร ที่ผู้เขียนได้รวบรวมมานั้น พอจะสรุปได้ว่า Non-human primates มีลักษณะสังคมหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ โดยลักษณะสังคมเหล่านั้นเป็นรูปแบบการปกครองอยู่ในตัว หรือในหนึ่งสังคมหรือหนึ่งฝูงคือหนึ่งหน่วยการปกครอง มิได้มีการสถาปนาระบบการปกครองผ่านสถาบันการเมือง ดังเช่น การปกครองในสังคมมนุษย์ แม้ในรูปแบบการปกครองแม้ Non-human primates จะไม่มีรูปแบบการปกครอง โดยผ่านสถาบันทางการเมือง แต่ Non-human primates มีรูปแบบของ “การเมือง” ภายในฝูงอย่างเห็นได้ชัด โดยพิจารณาจากเรื่องของผลประโยชน์ กลุ่มผลประโยชน์ และการจัดสรรผลประโยชน์ สำหรับสภาวะรุนแรงทางการเมือง เช่น การปฏิวัติ รัฐประหารนั้น Non-human primates ได้แสดงพฤติกรรมที่ “ไม่จำนน” ต่อรัฏฐาธิปัตย์ และใช้เครือข่ายพันธมิตรในการโค่นล้มอย่างรุนแรงได้ แต่ลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในทุกชนิดพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรง อาจเป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในสัญชาติญาณได้ แต่ ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและเลือกที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติได้ เพราะจะเห็นว่าอันดับไพรเมต อีกหลายสายพันธุ์และเป็นส่วนมากที่ มีความรุนแรงในการแข่งขันตามธรรมชาติจริง แต่ไม่ได้เลือกปฏิบัติด้วยการฆ่าให้ตาย อีกทั้ง ในบางสายพันธุ์ก็มีเทคนิควิธีอื่นๆ นอกจากความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ในภาพยนตร์ Planet of the ape ไตรภาคหลัง จะมีคำพูดหนึ่งที่ตัวละครมักพูดให้สติซึ่งกันและกัน เมื่อยามที่เกิดความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิต และใช้เป็นคติพจน์ในการสอนเหล่าลูกหลานวานรในภาพว่า “Ape not kill ape” ลิงไร้หางไม่ฆ่าลิงไร้หางด้วยกัน นั่นเป็นความจริงที่ลิงไร้หางส่วนใหญ่ไม่ได้ฆ่ากันเอง หรือแม้แต่ไพรเมตในอันดับย่อยอื่นๆก็ไม่ได้ต่อสู้เพื่อหมายเอาชีวิตคู่แข่ง มีแต่เพียงไพรเมตอย่างมนุษย์ เท่านั้นที่การฆ่ากันตายเป็นข่าวรายวันที่ดูจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป อันที่จริงแล้วดูเหมือนว่า“Ape not kill ape” ไม่เพียงแต่เป็นคติเตือนใจของตัวละครที่กล่าวกันในเรื่องเท่านั้น แต่วลีนี้ยังแฝงไปด้วยความเย้ยหยันที่หากเหล่าลิงคิดได้คงจะเย้ยหยันดูแคลนที่มนุษย์มีความโหดร้ายถึงขั้นฆ่ากันเอง และแฝงไปด้วยข้อเตือนใจว่า อันที่จริงแล้วลิงใหญ่อย่างมนุษย์ก็สามารถ “เลือกได้” ที่จะไม่ฆ่า การที่มนุษย์คิดว่าตนเองเป็นสายพันธุ์ที่มีสติปัญญาดีนั้น จะเลือกทางเลือกที่ชาญฉลาดไปในทิศทางใด
[1] Robert W.Sussman Exploring our basic human nature: Are humans inherently violent? In Michael Alan Park.Boplogical Athropology An Introductory Reader: McGraw-Hill; 2001
[2] Bonobo. Retrieved April 23,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Bonobo
[1] Demonic Males. Retrieved April 23,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Demonic_Male
[1] พฤติกรรมที่หาดูได้ยาก เหล่า ชิมแปนซี รุมฆ่าหัวหน้าเก่า เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 จาก https://ngthai.com/animals/829/chimpanzee-kill-the-old-leader/
[1] ณัชชาภัทร อุ่ตรงจิตร. (2550) อ้างแล้ว
[1] นักวิจัยสถาบันสมิธโซเนียนสำรวจพบ แม้แต่ลิงบาบูนก็ยังมี ‘ประชาธิปไตย’เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2015/06/59893
[1] Gorilla. Retrieved Retrieved April 23,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Gorilla
[1] C.J.Friedrich and Z.K.Brezezinski,1965 ใน สนธิ เตชานันท์. พื้นฐานรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[2] ณัชชาภัทร อุ่ตรงจิตร. (2550) อ้างแล้ว
[1] Barbara Tylor.,Tom Jackson. อ้างแล้ว
[1] Barbara Tylor.,Tom Jackson. Apes & Monkey. London: Anness Publishing; 2004
[2] นมเปรี้ยวเป็นเหตุให้ “ลิงลพบุรี”ยกพวกตีกัน เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 จาก https://www.pptvhd36.com/news/121239
[1] การจัดระเบียบทางสังคม .เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 จาก http://www.udru.ac.th/oldsite/attachments/elearning/02/19.pdf
[1] Primate sociality. Retrived March 31,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Primate_sociality
[1] Group living. Retrived March 31,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Group_living
[1] John Paul Scott .A Review of “Primate Politics”.1991 available from https://www.jstor.org/stable/4235814?seq=1#metadata_info_tab_contents
[2] ธนิท เลิศชาญฤทธิ์ (2550) ตามรอยกำเนิดมนุษย์ : สำนักพิมพ์สารคดี
[1] ณัชชาภัทร อุ่ตรงจิตร. (2550) รัฐศาสตร์.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[1] Planet of the apes. Retrieved April 17,2021 from https://en.wikipedia.org/wiki/Planet_of_the_Apes