ลิงในงานศิลปกรรม : พาไปชมงานศิลปกรรมรูปลิงที่พิพิธฑภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ลิงศึกษาในงานศิลปกรรม

ในเว็บ primatethings.com และเพจพูดลิง ทำลิง พยายามจะนำเสนอเรื่องราวลิง ลิง ในหลากหลายมิติ ทั้งลิงในแง่ที่เป็นสิ่งมีชีวิตแสนซุกซน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมต ลิง ในแง่การศึกษาพฤติกรรมของลิง ลิงในแง่ที่ปรากฎเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนการมนุษย์ นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังอยากจะนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งคือ ลิงที่ปรากฎตัวในรูปแบบของความเชื่อ ความเกี่ยวพันกับสังคมมนุษย์ และลิงที่ปรากฎตัวในงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ โดยผู้เขียนจะขอถือโอกาสบรรจุซีรี่ส์ “ลิงในงานศิลปกรรม” เอาไว้ ในคอลัมน์ Primate Studies เพื่อเป็นการพาผู้อ่านไปชมความน่ารักของเหล่าวานร และรวบรวมแง่มุมความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อลิงและได้แสดงออกมาผ่านงานศิลปะ ซึ่งอาจสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อเพื่อนร่วมอันดับไพรเมต จากอดีตถึงปัจจุบัน

ไปชมลิงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

วันนี้ Primatethings ขอเปิดซีรีส์ “ลิงในงานศิลปกรรม” โดยพาไปชมงานศิลปกรรมรูปลิงที่ปรากฎ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2469 หรือเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังบวรสถาน หรือ วังหน้า ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ ท้องสนามหลวง ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปกรรมชิ้นสำคัญของชาติที่เป็นถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้หลายแขนง ภายในประกอบไปด้วยอาคารจัดแสดงและห้องจัดแสดงหลายอาคาร อาทิเช่น อาคารมหาสรุสิงหนาท จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบไปด้วยห้องศิลปะเอเชีย ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ห้องสมัยทวารวดี อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ประกอบไปด้วยนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีหลังพุทธศตวรรษที่ 17 เช่น ห้องศิลปะล้านนา ห้องศิลปะสุโขทัย ห้องศิลปะอยุธยา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีพระที่นั่ง และอาคารอื่นๆให้เยี่ยมชมอีกมาก และในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ได้รับการปรับปรุงห้องจัดแสดงหลายๆห้อง ทำให้มีความสวยงาม ทันสมัย เพิ่มความน่าสนใจให้แก่วัตถุที่จัดแสดงยิ่งขึ้นไปอีก

พระพุทธรูป และ เทวรูป ในห้องจัดแสดงสมัยสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในห้องจัดแสดงสมัยศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท

ทีนี้เราก็จะมาดูกันว่ามีลิงแอบซ่อนอยู่ในห้องไหนกันบ้าง ?

ประติมากรรมรูปหนุมาน ศิลปะทมิฬ

1.หนุมานจากอินเดียใต้

คำอธิบายวัตถุ : หนุมาน ศิลปะอินเดีย ทมิฬ พุทธศตวรรษที่ 17-18 ไม่ทราบที่มา

สถานที่จัดแสดง : ห้อง 401 ศิลปะเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท

หลายท่านคงจะรู้จักมหากาพย์เรื่องรามายณะที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย ซึ่งภายหลังได้แพร่หลายมายังดินแดนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นต้นเค้าที่มาของวรรณคดีเรื่องรมเกียรติ์ หนึ่งในตัวละครเอกของวรรณกรรมนี้ คือ หนุมาน ตามท้องเรื่องว่าเป็นลิงเผือก บุตรของพระพายและนางสวาหะ ผู้เป็นทหารเอกของพระราม และเป็นกำลังสำคัญในการรบระหว่างฝ่ายพระรามและฝ่ายยักษ์ ในดินแดนเอเชียใต้ รามายณะ ไม่ได้เป็นเพียงวรรณกรรมเท่านั้น แต่มหากาพย์เรื่องนี้ยังถูกถ่ายทอดออกมาในงานด้านศิลปกรรมหลายแขนง เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม นอกจากนั้น ตัวละครในเรื่องยังถูกนับถือในสถานะเทพเจ้าอีกด้วย เช่น การนับถือหนุมาน การนับถือพระราม ดังปรากฎเป็นเทวสถานที่สร้างอุทิศแด่ทั้งพระรามและหนุมานหลายแห่งในอินเดีย

ประติมานวิทยาในชิ้นงาน

ประติมากรรมรูปหนุมานในภาพระบุว่า เป็นหนุมานในศิลปะทมิฬ ศิลปะทมิฬ หรือ ศิลปะอินเดียใต้ เจริญครอบคลุมบริเวณภาคใต้ของอินเดียโดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐทมิฬนาทู ศิลปกรรมส่วนใหญ่ในระยะนี้สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู สามารถแบ่งออกเป็น 3 สมัย คือ ศิลปะปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 12 – 14) ศิลปะโจฬะ (พุทธศตวรรษที่ 15 – 18) และศิลปะวิชัยนคร (พุทธศตวรรษที่ 18- 22) ตามลำดับ ประติมากรรมข้างต้นเราจะเห็นหน้าตาชัดเจนว่าเป็นลิง นุ่งผ้านุ่งสั้นเหนือเข่า ปล่อยชายให้ยาวลงมา ผ้านุ่งมีลายลักษณะเป็นวงกลม (แทนเส้นขน?) มือขวาถืออาวุธ คล้ายกระบอง ทีมียอดเป็นทรงกลม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกระบองหัวกลม (Gada) ซึ่งเป็นอาวุธโบราณที่มักปรากฎในรูปประติมากรรมเทพเจ้าฮินดูนิยมถืออาวุธชนิดนี้เช่นกัน หรือหากใครเคยชมหนังจักรๆวงศ์ๆ แบบอินเดีย จะพบว่าตัวละครหลักในฉากต่อสู้ จะถือกระบองหัวกลมๆใหญ่ๆคล้ายหัวหอมยักษ์เอาไว้ต่อสู้ฟาดฟันกับศัตรู ส่วนมือซ้ายถือของประติมากรรมรูปหนุมาน ถือวัตถุก้อนกลมรีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ หรือ ดอกบัว แท้จริงแล้ว น่าจะหมายถึง ภูเขา เธาละคีรี (Dhaulagiri) หนุมานยกภูเขาไว้ในมือซ้ายเพื่ออะไร? ตามท้องเรื่องมหากาพย์รามยณะระบุว่าครั้งหนึ่ง พระลักษณ์ต้องศรของอินทรชิต จนเจ็บหนักใกล้ถึงความตาย หนุมานจึงอาสาเหาะไปเอาพืชสมุนไพรที่มีชื่อว่า “สัญชีวนี” (Sanjeevani) ที่ภูเขาเธาละคีรีนี้ และนำสมุนไพรนี้มารักษาพระลักษณ์ แต่เมื่อหนุมานเหาะไปถึงภูเขาเธาละคีรีแล้ว หนุมานไม่สามารถแยกแยะได้ว่าต้นไหนคือ สัญชีวีนี จึงใช้วิธียกภูเขามาทั้งเขาเลยแล้วค่อยมาเลือกทีหลัง ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ก็มีตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่อาจจะมีรายละอียดที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เช่น พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ (ไม่ใช่อินทรชิต) ส่วนชื่อพืชสมุนไพรนั้น ถูกเรียกว่า “สังกรณีตรีชวา” ไม่ใช่ “สัญชีวนี


หน้ากากหนุมาน

2.หน้ากาหนุมาน

คำอธิบายวัตถุ : หน้ากาหนุมาน ศิลปะอินเดียใต้ ทมิฬ พุทธศตวรรษที่ 17-18 กรมศิลปากรซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ

สถานที่จัดแสดง : ห้อง 401 ศิลปะเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท

เนื่องจากไม่ได้มีการระบุในคำอธิบายวัตถุว่าหน้ากากกนุมานอันนี้ใช้ในวัตถุประสงค์ใด แต่ถ้าหากว่านำไปใช้ประกอบการแสดงจริง มีความเป็นไปได้ว่าอาจใช้ประกอบในการแสดงนาฏศิลป์ในอินเดียที่มีการนำบทละครที่ประยุกต์มาจากมหากาพย์รามยณะ ซึ่งเป็นบทละครที่มีหนุมานเป็นตัวละครเอก สำหรับการแสดงที่นิยมนำบทละครมหากาพย์รามยณะมาแสดง เช่น กถักกะลิ (Kathakali) โดยแต่เดิมมีการใช้หน้ากากแทนตัวละครขณะแสดงและต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการแต่งหน้าตัวละครแทน

ตู้จัดแสดงหัวโขน

หัวโขนหนุมานประดับมุข

3.หัวโขนหนุมานประดับมุข

คำอธิบายวัตถุ : หัวโขนหน้าหนุมาน ศิลปะรัตนโกสินทร์ ชนิดโลหะ มุก สมุกและประดับกระจก

สมัยพุทธศตวรรษที่ 24

สถานที่จัดแสดง : ห้อง 605 พระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน

จากข้อมูลของเพจกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากรระบุว่า หัวโขนหนุมานชิ้นนี้ ประดับด้วยมุกไฟด้วยฝีมืออันประณีตงดงามยิ่ง นับเป็นศิลปะและโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมประเภทงานศิลป์ของชาติชิ้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าอาจเป็นงานศิลปะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากเป็นยุคทองแห่งศิลปะการดนตรี นาฏศิลป์และวรรณคดี

ชมหัวโขนหนุมานประดับมุขในแบบ 360 องศา ได่ที่เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ https://bit.ly/3vdxWhs


ตู้จัดแสดงหุ่นเล็ก (หุ่นวังหน้า)

หุ่นเล็ก เขนลิง สวมหมวกทหารโบราณ มือถือพลอง

หุ่นเล็ก เขนลิง มือถือขวานหัวหอก

4.หุ่นเล็ก เขนลิง

คำอธิบายวัตถุ : หุ่นเล็ก เป็นหุ่นไทยที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (วังหน้าสมัยรัชากาลที่ 5) ทรงคิดขึ้นใหม่ ดำเนินวิธีคล้ายหุ่นหลวง หรือหุ่นใหญ่ มีแขนขาเต็มตัว มีไม้แกนกับชายใยชักอวัยวะต่างๆ เคลื่อนไหว แต่ทำให้หุ่นมีขนาดเล็ก ทำโรงคล้ายๆโรงละครฝรั่ง หุ่นเล็กได้เคยเล่นเรื่องรามเกียรติ์ถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรในงานสมโถชน์ช้างเผือกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2419

สถานที่จัดแสดง : ห้อง 605 พระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน

ในการแสดงโขน ผู้แสดงจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพระราม เรียกว่า ฝ่ายพลับพลา และ ฝ่ายทศกัณฑ์ เรียกว่าฝ่ายลงกา ในการจัดลำดับชั้นในกองทัพพระรามหรือฝ่ายพลับพลานั้น ประกอบด้วย 1. พระราม 2. พระลักษณ์ 3.พญาวานร 4.สิบแปดมงกุฎ 5.เตียวเพชร 6.จังเกียง และ 8.เขนลิง สำหรับเขนลิง ก็คือ ทหารลิงที่อยู่ในกองทัพของพระรามนั่นเอง

5.บานหน้าต่าง (ชะนี / ลิงคู่)

บานหน้าต่าง ลงรักปิดทองรูปชะนีตัวเมียกำลังโหนกิ่งไม้

บานหน้าต่างลงรักปิดทอง รูปลิงหางยาง (ผัว เมีย?) เดินป่า (หาอาหาร?)

คำอธิบายวัตถุ :

สถานที่จัดแสดง : บานหน้าต่างหนึ่งใน พระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน

          บานหน้าต่างลงรักปิดทอง ในพระที่นั่งทักษิณาภิมุข โดยรวมแล้วจะเป็นภาพป่า มีต้นไม้ และพันธุ์พฤกษาต่างๆสวยงามเป็นที่สังเกตว่าหากมีภาพป่าแล้วก็ย่อมจะมีองค์ประกอบของภาพเป็นภาพสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในบานหน้าต่างลงรักปิดทองของพระที่นั่งองค์นี้ พบสัตว์ในอันดับไพรเมต 2 ชนิด คือ ชะนีตัวเมีย กำลังใช้แขนข้างเดียวโหนกิ่งไม้ สัดส่วนของแขนที่ยาวกว่าลำตัว และไร้หาง แสเงชัดเจนว่าเป็น ชะนี ส่วนบานหน้าต่างอีกบานนั้นพบรูปลิงหางยาว 2 ตัว ตัวผู้และตัวเมีย เดินสองขา ตัวเมีย ถือร่ม ตัวผู้ ถือผลไม้ผลใหญ่ไว้ในมือ ลิงทั้งสองอาจจะเป็นผัวเมียกันตามจินตนาการของศิลปินผู้สร้าง บานหน้าต่างดังกล่าวเน้นการวาดลวดลายจำลองต้นไม้ และพรรณพฤกษา ประดุจป่า ศิลปินได้ใช้จินตนาการใส่ภาพของสัตว์ในป่าแต่ทำอากัปกิริยาคล้ายคนประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพ

หย่องหน้าต่างพระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล

6.หย่องหน้าต่างพระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล

คำอธิบายวัตถุ : หย่องหน้าต่างพระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กรมศิลปากรซื้อจากพิพิธภัณฑ์หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2479แผ่นไม้จำหลักรองรับราวลูกกรงช่องหน้าต่าง งานช่างวังหน้าในรัชกาลที่ 1 นิยมจำหลักตกแต่งหย่องหน้าต่างพระวิมานด้วยลายมังกรไทย 2 ตัว เล่ยมุกไฟหรือทำเกี่ยวกระหวัดกัน บางครั้งปรากฎขุนกระบี่เหนี่ยวรั้งตัวมังกรไว้ หย่องหน้าต่างที่มีลวดลายลักษณะนี้ยังพบที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งเป็นฝีมือช่างวังหน้าเช่นกัน

สถานที่จัดแสดง : พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ข้อมูลเพิ่มเติม

พิพิธฑภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เปิดบริการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.

ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท

อ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี (2560) ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส

หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (155) ‘เขาสมอคอน’เวอร์ชั่นเนปาล โดย ส.พลายน้อย .เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1092132

มาลินี ดิลกวณิช (2543) ระบำและละครในเอเชีย : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศีรษะโขนหน้าหนุมาน กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร. เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 จาก https://bit.ly/3urfumg