25 ชนิดพันธุ์ไพรเมต ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก ประจำปี 2022-2023

          ในทุกๆ 2 ปี กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเมตจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN SSC Primates Specialist Group) ร่วมกับสมาคมไพรเมตสากล (International Primatological Society) จะมีการจัดทำรายงานที่ชื่อว่า Primates in Peril The World’s 25 Most Endangered Primates โดยตัวรายงานได้จำแนกไพรเมตที่ใกล้สูญพันธ์จาก 4 ภูมิภาคของโลก สำหรับสถานการณ์ของเหล่าไพรเมตในปี 2022-2023 ลองมาดูแยกแต่ละภูมิภาคกันดีกว่าค

ไพรเมตในเกาะมาดากัสการ์

1.ลีเมอร์หนู มาดามเบิร์ธ

 ชื่อภาษาอังกฤษ  Madame Berthe’s mouse lemur

ชื่อวิทยาศาสตร์ Microcebus berthae

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลีเมอร์หนู มาดามเบิร์ธ ถือเป็นไพรเมตที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีความยาวตัวประมาณ 9.2 ซ.ม. น้ำหนักประมาณ30 กรัม มีพฤติกรรมหากินเพียงลำพังกินอาหารได้หลากหลายทั้งผลไม้ ดอกไม้ แมลง ยางไม้ มีถิ่นที่อยู่ที่ค่อนข้างจำกัด เฉพาะบริเวณป่า Kirindy ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะมาดากัสการ์เท่านั้น

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Madame Berthe’s mouse lemur ภาพโดย Rusell Mitternmeier จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

          2.ลีเมอร์ซาฮาฟารี / ลีเมอร์เพียงพอน

ชื่อภาษาอังกฤษ  Sahafary Sportive Lemur, Northern Sportive Lemur, Northern Weasel Lemur

           ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepilemur septentrionalis

            ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ เป็นลีเมอร์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก และออกหากินตอนกลางคืน และอยู่อาศัยเพียงลำพัง สำหรับตัวผู้มีการกำหนดอาณาเขตที่ชัดเจนโดยประกาศอาณาเขตผ่านสารเคมีคล้ายการฉี่ ลีเมอร์ชนิดนี้กินใบไม้เป็นหลักแต่ก็สามารถกินผลไม้และใบไม้เป็นอาหารเสริมได้ ลีเมอร์ชนิดนี้มีถิ่นอาศัยที่เฉพาะเจาะจงมากคือบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ Loky ทางตอนเหนือของเกาะมาดากัสการ์เท่านั้น

            สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

3.ลีเมอร์ดำตาสีฟ้า

ชื่อภาษาอังกฤษ  Blue-eyed black lemur,  Sclater’s lemur

ชื่อวิทยาศาสตร์ Eulemur flavifrons

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ เป็นลีเมอร์ขนาดกลางที่อยู่ในสกุล Eulemur หรือสกุลลีเมอร์สีน้ำตาล แม้จะมีชื่อชนิดพันธุ์ว่าลีเมอร์ดำตาฟ้า แต่ลีเมอร์ชนิดนี้นั้นมีความแตกต่างระหว่งเพศเรื่องสี ดังนั้นจึงไม่ได้มีเพียงขนสีดำล้วนเท่านั้น แต่สีขนนั้น แบ่งออกเป็น 2 สี ตามเพศ ตัวผู้จะมีขนสีดำ และ ตัวเมียจะมีขนสีน้ำตาลแดง แต่ทั้งสองเพศล้วนมีตาสีฟ้า และเป็นไพรเมตชนิดเดียวนอกเหนือจากมนุษย์ที่มีตาเป็นสีฟ้า ลีเมอร์ ชนิดนี้อยู่รวมกันเป็นฝูง ตั้งแต่ 4-11 ตัว โดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง โดยมีการสื่อสารระหว่างกันด้วยวิธีที่หลากหลายทั้ง สื่อสารด้วยกลิ่น เสียง และการแสดงออกทางสีหน้า พวกมันกินผลไม้ เกสรดอกไม้ และน้ำหวานที่ได้จากดอกไม้ต่างๆ แต่ในฤดูที่อาหารขาดแคลนก็สามารถกินเมล็ดพืชที่หลากหลาย ผลเบอรี่ส์ และแมลงได้ ถิ่นอาศัยของลีเมอร์ดำตาสีฟ้าคือ บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะมาดากัสการ์

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

4.ซิฟากาก็อกโกเร็ล

ชื่อภาษาอังกฤษ  Coquerel’s sifaka

ชื่อวิทยาศาสตร์ Propithecus coquereli

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ เป็นลีเมอร์ขนาดกลางที่อยู่ในสกุล Propithecus หรือ Sifaka ความโดดเด่นคือ การที่ขนมีสีขาวแต่บริเวณท้องและใต้แขน ขา มีสีน้ำตาลแดง ในขณะที่หน้าและหูมีสีดำ Sifaka อาศัยอยู่เป็นฝูงโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง ส่วนใหญ่กินพืชได้หลากหลายทั้งใบอ่อนของพืช ดอกไม้ ผลไม้ เปลือกไม้ ลักษณะสังคมของ Sifaka คือตัวเมีย 1 ตัว สามารถผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้หลายตัว (Polyandry) ลักษณะการเคลื่อนที่ของ Sifaka นั้นสามารถจะกระโดดจากกิ่งไม้หรือต้นไม้หนึ่งไปสู่อีกกิ่งไม้หรือต้นไม้หนึ่งได้ และเมื่อ Sifaka อยู่บนพื้นดินก็มักเคลื่อนที่ด้วยการกระโดด ถิ่นอาศัยของ Coquerel’s sifaka คือบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะมาดากัสการ์

  สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Coquerel’s sifaka ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Coquerel%27s_sifaka

ไพรเมตในทวีปแอฟริกา

5.กาเลโกแคระรอนโด้

ชื่อภาษาอังกฤษ  Rondo dwarf galago 

 ชื่อวิทยาศาสตร์ Paragalago rondoensis

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ Galago  หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า Bush baby หรือลิงลม แอฟริกา นั้น เป็นไพรเมตในสกุล  Galagidae สำหรับกาเลโกแคระรอนโด้ นี้ ถือว่าเป็นกาเลโกที่มีขนาดเล็กมากที่สุดในกลุ่มกาเลโก คือ มีน้ำหนักน้อยกว่า 100 กรัม เท่านั้น กาเลโก เป็นสัตว์หากินกลางคืน กินได้ทั้งแมลงและผลไม้ มักพบได้บริเวณป่าดิบแล้งชายฝั่งของประเทศแทนซาเนีย ที่มีความสูงตั้งแต่ 50-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

Rondo dwarf galago ภาพโดย Andrew Perkin จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

6.ลิงมังกาเบย์ท้องสีทอง

ชื่อภาษาอังกฤษ  Golden-bellied mangabey

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cercocebus chrysogaster

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลิงมังกาเบย์ท้องสีทอง เป็นลิงโลกเก่าที่อยู่ในสกุล Cercocebus ลักษณะโดยทั่วไปของลิงมังกาเบย์ คือ ลิงแอฟริกันที่มีแขนขายาว เอวเล็ก และมีกมีพฤติกรรมเดินหาอาหารเป็นระยะทางไกลต่อวัน หรือประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรต่อวัน ซึ่งมีพฤติกรรมการเดินหาอาหารในระยะทางไกลนี้คล้ายดั่งเพื่อนร่วมเผ่า Papionini หรือพวกลิงบาบูนนั่นเอง ลิงมังกาเบย์ท้องสีทอง กินอาหารได้หลากหลาย รวมถึงสามารถกินสัตว์ขนาดเล็กและปานกล่งได้ เช่น งู นก แมวป่า พบลิงมังกาเบย์ท้องสีทอง ได้บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก ในสาธารณรัฐคองโก

สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

7.ลิงพาทัสถิ่นใต้

ชื่อภาษาอังกฤษ  Southern Patas Monkey

ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrocebus baumstarki

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ว่ากันว่าลิงชนิดนี้เป็นลิงที่เสียงสูญพันธุ์มากที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยมีลิงพาทัสถิ่นใต้อยู่ในธรรมชาติ ประมาณ 100-200 ตัว เท่านั้น ลิงพาทัสถิ่นใต้ มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศแทนซาเนียตอนเหนือและประเทศเคนยาตอนใต้ สำหรับสาเหตุหลักของการลดจำนวนลงเนื่องมาจากการสูญเสียถิ่นอาศัยในการทำการเกษตรและการปศุสัตว์

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Southern Patas Monkey
ภาพจาก https://palmoildetectives.com/2021/05/01/southern-patas-monkey-erythrocebus-baumstarki/

8.ลิงโรโลเว

ชื่อภาษาอังกฤษ   Roloway monkey 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cercopithecus roloway

 ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลิงโรโลเว นั้นค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับลิงไดอาน่ามากจนแทบแยกไม่ออก กล่าวกันว่าลิงโรโลเว เป็ยชนิดพันธุ์ย่อยของลิงไดอาน่า ลิงโรโลเว มีสีขนที่สวยแปลกตา คือมีช่วงแผ่นหลังเป็นขนสีดำไล่สีไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม แต่มีคิ้ว เครา และขนที่หน้าอกสีขาว ลิงโรโลเว อาศัยอยู่เป็นฝูง ฝูงละประมาณ 6-30 ตัว มีลักษณะทางสังคมแบบตัวผู้หนึ่งตัว ตัวเมียหลายตัว (polygynous) ลิงโรโลเว มีการสื่อสารกันภายในฝูงที่หลากหลาย ทั้งการส่งเสียง การแสดงออกทางร่างกายและสีหน้าและแม้กระทั่งการส่งสัญญาณกันทางมือ ลิงโรโลเวกินอาหารได้หลากหลายทั้งผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ แมลง ตัวอ่อนแมลง และไข่ แต่ก็มีนักล่าลิงโรโลเวในธรรมชาติด้วยเช่นกัน คือ เสือดาว นกล่าเหยื่อขนาดใหญ่ และชิมพ์แปนซี ถิ่นที่อยู่ของลิงโรโลเว คือ บริเวณ ประเทศไอวอรีโคสต์และประเทศกานา

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Roloway monkey ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Roloway_monkey

9.ลิงโคโลบัสแดงปากแม่น้ำไนเจอร์

ชื่อภาษาอังกฤษ   Niger Delta red colobus 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piliocolobus epieni

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ แต่เดิมลิงโคโลบัสแดงปากแม่น้ำไนเจอร์ ถูกเชื่อว่าเป็นลิงชนิดพันธุ์เดียวกับลิงโคโลบัสแดง ต่อมาถูกจำแนกชนิดพันธุ์ออกมาในปี 2007 ลิงโคโลบัสแดงปากแม่น้ำไนเจอร์มีถิ่นอาศัยอบู่บริเวณฝั่งตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ พบว่าลิงชนิดนี้แชร์แหล่งอาศัยกับลิงชนิดอื่นด้วยเช่นกัน เช่น ลิงมังกาเบย์หมวกแดง (Cercocebus torquatus) ลิงเกวนอนไนจีเรียคอขาว (Cercopithecus erythrogaster pococki) ลิงจมูกขาว (Cercopithecus nictitans) และลิงโมนา (Cercopithecus mona)

  สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Niger Delta red colobus  ภาพโดย Rachel Ashegbofe Ikemeh จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

10.ชิมแปนซี ชนิดพันธุ์ย่อยไนจีเรีย-แคมเมอรูน

ชื่อภาษาอังกฤษ   Nigeria-Cameroon chimpanzee

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pan troglodytes ellioti

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ชิมแปนซี เป็นลิงไร้หางใหญ่ที่หลายคนคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีตามสื่อต่างๆ และยังได้ชื่อว่าเป็นไพรเมตที่มีความเฉลี่ยวฉลาดและมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มาก ในบรรดาชิมแปนซีนั้น แท้จริงแล้วถูกแบ่งออกเป็น 4 ชนิดพันธุ์ย่อยคือ ชิมแปนซีตะวันตก (Pan troglodytes verus) ชิมแปนซีไนจีเรีย-แคมเมอรูน (Pan troglodytes ellioti) ชิมแปนซีแอฟริกากลาง (Pan troglodytes troglodytes) และชิมแปนซีตะวันออก (Pan troglodytes schweinfurthi)i สำหรับชิมแปนซีไนจีเรีย-แคมเมอรูน มีการกระจายอยู่ภายใน 5 พื้นที่อนุรักษ์ทั้งในประเทศไนจีเรียและประเทศแคมเมอรูน โดยรวมมีจำนวนประชากรเหลืออยู่ประมาณ 2,500-4,400 ตัว

 สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

 Nigeria-Cameroon chimpanzee ภาพโดย Ekwoge Abwe
จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

ไพรเมตในทวีปเอเชีย

11.ลิงลมชวา / นางอายชวา

ชื่อภาษาอังกฤษ Javan slow loris 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Nycticebus ornatus 

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ แต่เดิมลิงลมชวาถูกจัดให้เป็นชนิดพันธุ์ย่อยของลิงลมใต้หรือลิงลมซุนดา ต่อมาในปี 2008 ได้มีการวิเคราะห์ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะของเส้นขน การวิเคราะห์ทางตรวจทางอณูพันธุศาสตร์ แล้วพบว่าลิงลมชวา เป็นญาติทีใกล้ชิดกับลิงลมใต้ และลิงลมเหนือ แต่เป็นคนละชนิดพันธุ์ จึงจำแนกออกโดยไม่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของลิงลมใต้ ลิงลมชวา ก็เหมือนลิงลมอื่นๆคือเป็นสัตว์หากินกลางคืนอาศัยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้หรือเถาวัลย์ ลิงลมชวากินอาหารหลากหลาย ทั้งสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า ไข่ ผลไม้ ยางไม้ ถิ่นอาศัยของลิงลมชวาคือพื้นที่ด้านตะวันตกและตอนกลางของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ลิงลมชวาลดจำนวนลงก็เนื่องมาจากการล่าเพื่อนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

12.ทาร์เซียร์ซังเกเฮ

ชื่อภาษาอังกฤษ Sangihe tarsier

ชื่อวิทยาศาสตร์  Tarsius sangirensis

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ทาร์เซียร์ซังเกเฮ เป็นทาร์เซียที่อาศัยอยู่บนเกาะซังเกเฮ ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากเกาะซุลาเวซี ส่วนใหญ่แล้วทาร์เซียมักพบว่าอาศัยอยู่เพียงลำพังหรือเป็นกลุ่มเล็กๆประมาณ 2-6 ตัว ออกลูกครั้งละเพียง 1 ตัว ทาร์เซียเป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน โดยกินแมลงต่างๆไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า

สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

Sangihe tarsier ภาพโดย Myron Shekelle
จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

13.ค่างหน้าม่วง

ชื่อภาษาอังกฤษ Purple-faced langur

ชื่อวิทยาศาสตร์  Semnopithecus vetulus

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ค่างหน้าม่วง เป็นค่างที่อยู่ในสกุล Semnopithecus เช่นเดียวกับค่างหนุมาน ค่างหน้าม่วงมีลักษณะที่เด่น คือ มีใบหน้าเป็นสีม่วงเข้มคล้ำจนเกือบดำ มีขนรอบใบหน้าที่ฟูออกเป็นสีขาว ขนลำตัวเป็นสีดำ แต่ขนบริเวณสะโพกเป็นสีขาวคล้ายนุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว ค่างหน้าม่วงมีถิ่นอาศัยอยู่ในเกาะศรีลังกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ wet zone หรือบริเวณที่มีภูเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกา ค่าง ส่วนใหญ่กินใบไม้เป็นหลัก แต่ยังสามารถกินพืชผลไม้ชนิดอื่นได้ เช่น ดอกไม้ หรือผลไม้อย่าง ขนุน เงาะ กล้วย มะม่วง

สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

14.ค่างกั๊ตบ่า / ค่างกระหม่อมทอง

ชื่อภาษาอังกฤษ Cat Ba langur/ Golden-headed langur

ชื่อวิทยาศาสตร์  Trachypithecus poliocephalus

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ค่างกั๊ตบ่า หรือ ค่างกระหม่อมทอง มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะกั๊ตบ่า ประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักอาศัยบริเวณที่เป็นเขาหินปูนของเกาะ ค่างกั๊ตบ่ามีขนบริเวณลำตัวเป็นสีดำแต่บริเวณหน้าอก แก้ม และบนหัวนั้นมีขนเป็นสีออกเหลือง สำหรับลูกค่างจะมีสีส้มจนกว่าจะอายุ 4 เดือน สีขนจึงจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นเหมือนตํวโตเต็มวัย มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดเล็ก ประมาณ 4-18 ตัว ด้วยแหล่งอาศัยที่จำกัดและในอดีตนั้น ค่างกั๊ตบ่า เคยถูกล่าอย่างหนักเพื่อนำชิ้นส่วนไปทำยาสมุนไพรที่รู้จักกันในนาม “ยาหม่องลิง” (คงคล้ายๆน้ำมันเลียงผาของไทยสมัยก่อน) ปัจจุบัน ประชากรของค่างกั๊ตบ่าเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว และมีโครงการอนุรักษ์ภายในท้องถิ่นทั้งที่ริเริ่มโดยองค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนในท้องถิ่น

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Cat Ba langur ภาพโดย Neahga Leonard
จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

15.ค่างดำมลายู

ชื่อภาษาอังกฤษ Raffles’ banded langur /Banded surili /Banded leaf monkey

ชื่อวิทยาศาสตร์  Presbytis femoralis

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ค่างดำมลายูมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณปลายแหลมมลายู ประเทศมาเลเซีย และบนเกาะสิงคโปร์ สำหรับแหล่งอาศัยอาจจะเป็นป่าปฐมภูมิ ป่าพรุ หรือ ป่าชายเลน ก็สามารถอาศัยอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่างดำมลายูมักอาศัยอยู่ในป่าที่มีไม้ในสกุลยางนาขึ้นอยู่มาก ประชากรค่างดำมลายูในเกาะสิงคโปร์นั้น แม้ว่าจะมีพื้นที่อนุรักษ์ที่ชัดเจน แต่ก็ยังนับว่าวิกฤติ แม้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย คือ พบอยู่เพียง 60 ตัวในปี 2019 และเพิ่มขึ้นเป็น 70 ตัว ในปี 2022

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Raffles’ banded langur ภาพโดย Andie Ang

16.ค่างจมูกเชิดกุ้ยโจว / ค่างจมูกเชิดสีเทา

ชื่อภาษาอังกฤษ  Guizhou Snub-nosed monkey /  Gray snub-nosed monkey 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Rhinopithecus brelichi

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ในบรรดาค่างจมูกเชิด 3 ชนิดพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งประกอบไปด้วย ค่างจมูกเชิดสีทอง ค่างจมูกเชิดขาว-ดำ ดูเหมือยว่า ค่างจมูกเชิดกุ้ยโจวหรือค่างจมูกเชิดสีเทานี้ จะเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากที่สุด โดยในธรรมชาติอาจมีจำนวนประชากรเหลืออยู่เพียง 400 ตัว ค่างจมูกเชิดกุ้ยโจว อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติฟ่านจิ้งซ่าน มณฑลกุ้ยโจว ซึ่งพื้นที่ตรงนี้มีความน่าสนใจที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล  (Biosphere Reserve) เมื่อปี 1986 สะท้อยถึงการเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์และพืชในพื้นที่ดังกล่าว การที่ค่างหลายชนิดพัน์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศจีนนั้นต่างก็มีขนยาว หนา ก็เนื่องมาจากค่างจมูกเชิดทุกชนิดอาศัยอยู่บนพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงและมีหิมะปกคลุมอยู่หลายเดือนต่อปี

 สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Guizhou Snub-nosed monkey
ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/sdzooglobal/21282758920

17.ชะนีคิ้วขาวเกาลิกง

ชื่อภาษาอังกฤษ  Gaoligong hoolock gibbon / Skywalker hoolock gibbon

ชื่อวิทยาศาสตร์  Hoolock tianxing

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ชะนีคิ้วขาวเกาลิงกง หรือ ถูกจำแนกออกมาเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ในปี 2017 โดยแยกออกมาจากชะนีคิ้วขาวตะวันออก โดยปัจจุบันคาดว่าจะมีจำนวนประชากรชะนีคิ้วขาวเกาลิกงเหลืออยู่ประมาณ 150 ตัว ชะนีคิ้วขาวชนิดนี้สามารถพบได้บริเวณเขตภูเขาภาคตะวันออกของพม่าและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตเทือกเขาเกาลิกง ซึ่งเป็นเขตที่สูงด้านตะวันตกของมณฑลยูนนานส่วนที่เป็นพรมแดนติดกับพม่า ประชากรของชะนีชนิดนี้ลดลงเพราะการล่า การสูญเสียแหล่งอาศัยเพื่อทำการเกษตร

สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

18.อุรังอุตังตาปานูลี

ชื่อภาษาอังกฤษ  Tapanuli orangutan

ชื่อวิทยาศาสตร์  Pongo tapanuliensis

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ อุรังอุตัง เป็นวานรใหญ่ไร้หาง ที่ถูกจำแนกออกเป็น 3 ชนิดพันธุ์ย่อย คือ อุรังอุตังบอร์เนียว (Pongo pygmaeus) อุรังอุตังสุมาตรา  (Pongo abelii)  และอุรังอุตังตาปานูลี (Pongo tapanuliensis)  ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของอุรังอุตังที่เพิ่งถูกจำแนกในปี 2018 และในปี 2018 ถูกสำรวจพบว่าเหลือประชากรเพียง 800 ตัวในธรรมชาติเท่านั้น คำว่าตาปานูลีนั้น ถูกตั้งตามถิ่นอาศัยที่พบโดยตาปานูลี คือ เขตเนินเขาทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Tapanuli orangutan เพศผู้ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tapanuli_orangutan

Tapanuli orangutan เพศเมีย ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tapanuli_orangutan

ภูมิภาคนีโอโทรปิกส์ (Neotropics)

19.ลิงมาโมเสทหัวสีน้ำตาลอ่อน

ชื่อภาษาอังกฤษ  Buffy-headed marmoset

ชื่อวิทยาศาสตร์  Callithrix flaviceps

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ มาโมเสทหัวสีน้ำตาลอ่อน มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณตะวันออกของบราซิล โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจกันว่ามาโมเสท เป็นไพรเมตที่กินยางไม้เป็นหลัก แต่อันที่จริงแล้วมาโมเสทหัวสีน้ำตาลอ่อน กินอาหารได้หลากหลายทังผลไม้ ยางไม้ ไข่นก ลูกนก แต่ในขณะเดียวกันก็มีศัตรูตามธรรมชาติ เช่น แมวป่า งูอนาคอนด้า และเหยี่ยว คาดว่าในธรรมชาติเหลือมาโมเสทหัวสีน้ำตาลอ่อน เหลืออยู่น้อยกว่า 2,500 ตัว ในธรรมชาติ

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

 Buffy-headed marmoset ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Buffy-headed_marmoset

20.ลิงคาปูชินคาโปริ

ชื่อภาษาอังกฤษ  Kaapori capuchin

ชื่อวิทยาศาสตร์  Cebus kaapori

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลิงคาปูชิน เป็นลิงโลกใหม่ที่มีแหล่งอาศัยอยู่บริเวณ อเมริกลาง และ อเมริกาใต้ ลิงคาปูชิน แบ่งออกเป็น 2 สกุลด้วยกันคือ สกุล  Cebus และ สกุล Sapajus คาโปริคาปูชิน มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ในภูมิภาคอเมซอน คาโปริคาปูชิน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งผลไม้ แมลงขนาดเล็ก หอยทาก มด ต่อ ตั๊กแตน หนอนผีเสื้อ ไข่นก ถิ่นอาศัยของคาโปริคาปูชิน ค่อนข้างมีความเปราะบางเพราะการสูญเสียพื้นที่ในการทำเขื่อน และการตัดไม้

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Kaapori capuchin
ภาพโดย Fabiano R.del Melo
จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

21.ลิงคาปูชินเอกวาดอร์

ชื่อภาษาอังกฤษ  Ecuadorian capuchin / Ecuadorian white-fronted capuchin 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Cebus aequatorialis

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ แต่เดิมลิงคาปูชินเอกวาดอร์ ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยของลิงคาปูชินหน้าขาว ต่อมาได้ถูกแยกออกเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ในปี 2013 มีถิ่นที่อยู่บริเวณที่ลุ่มฝั่งตะวันตกของประเทศเอกวาดอร์และฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเปรู สำหรับป่าไม้ในเอกวาดอร์และเปรูนั้น มีจำนวนที่ลดลงอย่างมากทำให้ถิ่นที่อยู่ของลิงคาปูชินเอกวาดอร์ลดลงไปด้วย

 สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

22.ลิงติติป่าละเมาะ

ชื่อภาษาอังกฤษ Groves’s titi monkey

ชื่อวิทยาศาสตร์  Plecturocebus grovesi

สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Groves’s titi monkey ภาพโดย Francielly Reis
จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

23.ลิงฮาวเลอร์สีน้ำตาล

ชื่อภาษาอังกฤษ Brown howler monkey

ชื่อวิทยาศาสตร์  Alouatta guariba

ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลิงฮาวเลอร์สีน้ำตาลมีถิ่นอาศันอยู่ทางตะวันออกเฉียงมใต้ของบราซิล และชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา ลิงฮาวเลอร์ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นลิงที่สามารถส่งเสียงดังไปไกลหลายกิโลเมตร เนื่องด้วยมีอวัยวะในการออกเสียงที่มีขนาดใหญ่ เช่น กล่องเสียง ช่วงหน้าอกที่ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อส่งเสียง (คล้ายๆการเห่าเสียงดังของสุนัข) และสามารถทำให้เสียงนั้นฟังดูมีความกังวานอย่างมาก การส่งเสียงดังของลิงฮาวเลอร์นั้น เป็นไปเพื่อการปกป้องตัวเมีย และปกป้องพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารของตนเอง นอกจากลิงฮาวเลอร์จะสื่อสารกันด้วยการส่งเสียงอันดังแล้ว ยังมีวิธีสื่อสารอีกอย่างหนึ่งคือการ “ถู” ลิงฮาวเลอร์ตัวผู้จะใช้ กระดูกบริเวณต้นคอ และกระดูกสันอก ถูอีกตัวหนึ่ง กรณีที่ตัวผู้ถูกับตัวผู้แสดงถึงพฤติกรรมต่อสู้ และกรณีที่ตัวผู้ถูตัวเมีย จะเป็นการเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย

สถานะทางการอนุรักษ์ : เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์  (VU – Vulnerable species)

24.ลิงแมงมุมหัวสีน้ำตาล

ชื่อภาษาอังกฤษ Brown-headed spider monkey

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ateles fusciceps fusciceps

 ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลิงแมงมุมนั้น จัดเป็นลิงโลกใหม่ (New world monkey)ลิงแมงมุมหัวสีน้ำตาล เป็นชนิดพันธุ์ย่อยของลิงแมงมุมหัวสีดำ มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเอกวาดอร์ ประเทศโคลัมเบีย และประเทศปานามา ลิงแมงมุมหัวสีน้ำตาลถือเป็นลิงแมงมุมที่มีแขน ขา และ หางที่ยาวมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว โดยลิงแมงมุมมักใช้เวลาเคลื่อนไหวบนยอดไม้สูง และ ส่วนกลางของต้นไม้มากกว่าที่จะลงมาสู่พื้น ลิงแมงมุมสีน้ำตาลอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 10-20 ตัว ระหว่างสมาชิกในฝูงมีการสื่อสารซึ่งกันและกันโดยการสัมผัส และในบางครั้งมีการกอดเพื่อนร่วมฝูง โดยเฉพาะเมื่อกลับมาจากออกหาอาหาร

 สถานะทางการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์  (CR – Critically endangered species)

Brown-headed spider monkey
ภาพโดย Felipe Alfonso / Proyecto Washu
จากรายงาน Primates in Peril 2022-2023

25.ลิงแมงมุมจิออฟฟรอย / ลิงแมงมุมมือดำ

ชื่อภาษาอังกฤษ Geoffroy’s spider monkey 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ateles geoffroyi

 ลักษณะสำคัญ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ ลิงแมงมุมจิออฟฟรอย มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปอเมริกากลาง บางส่วนของประเทศเม็กซิโก และมีบางส่วนอยู่ในประเทศโคลัมเบีย มีพฤติกรรมการอยู่เป็นฝูง ฝูงละประมาณ 20-42 ตัว อาหารสำคัญคือผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้สุก สำหรับลิงแมงมุมนั้น มีหลายชนิดพันธุ์ย่อย ซึ่งอาจมีสีที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน แดง ส้มอมน้ำตาล น้ำตาล และ ดำ แต่ส่วนใหญ่มือและเท้าจะเป็นสีดำ ลักษณะที่สำคัญของลิงแมงมุมทุกชนิดพันธุ์มีหางที่สามารถใช้หยิบจับได้ (prehensile tail) นักวิทยาศาสตร์พบว่าลิงแมงมุมจิออฟฟรอยสามารถใช้เสียงในการสื่อสารได้หลายแบบ เช่น เสียงเห่า เสียงสูงแหลม สีคล้ายกรีดร้อง เสียงที่ต่างกันใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกัน เช่น บางเสียงแสดงถึงความกังวล หรือ บางเสียงเป็นการสื่อสารให้ฝูงรู้ว่าพบแหล่งผลไม้ดีๆแล้ว

  สถานะทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN -Endangered Species)

Geoffroy’s spider monkey ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Geoffroy%27s_spider_monkey

ครบทั้ง 25 ชนิดพันธุ์แล้ว เพื่อนๆเคยเห็นชนิดไหนกันบ้างคะ ? จะเห็นว่าโดยรวมสาเหตุของการถูกคุกคามของลิงแต่ละชนิดพันธุ์นั้น แม้จะมาจากคนละทวีปกันแต่ก็มีสาเหตุคล้ายคลึงกัน ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการถูกล่าในปริมาณมาก จนไม่สามารถมีจำนวนประชากรในธรรมชาติกลับคืนมาได้เท่าเดิมอีกต่อไป